นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้นำเสนอแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2561 อยู่ในสัดส่วนที่ 41.70% จากกรอบบริหารหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 60%
โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 3.86% ภายใต้กรอบที่กำหนด 10% นั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ประเทศในส่วนของสินค้าส่งออกและบริการ มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และสัดส่วนภาระหนี้รัฐบาลต่อรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 20-33% ยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการคลังกำหนดไว้ที่ 35%
ผอ.สำนักงบประมาณ ยืนยันว่า การที่ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยภาระหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเฉลี่ย 7% ซึ่งไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ในแต่ละปีที่ 10% ส่วนภาระหนี้ผูกพันงบประมาณระหว่างปีของปีนี้ยังไม่ถึง 1% ซึ่งกำหนดกรอบไว้ 5%
"การจะก่อหนี้หรือเป็นภาระงบประมาณในปีต่อไปยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยหมด ไม่ใช่ตามที่มีข่าวว่าใช้เงินเกินตัว แต่เรามีกรอบแล้ว การจัดทำงบประมาณอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้" นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว
ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่าย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระต่อไปในอนาคต รวมถึงการชำระหนี้และดอกเบี้ย ซึ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยในส่วนของการขาดดุลงบประมาณยังอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งงบประมาณขาดดุลในปี 2562 ได้ตั้งงบไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ซึ่งตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ กำหนดไว้ว่า การกู้เงินช่วยชดเชยการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีต้องไม่เกิน 20% ของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ส่วนการจัดทำงบประมาณสมดุลนั้นได้ตั้งเป้าไว้ในปี 2573 ซึ่งต้องพิจารณาจากรายได้ที่จะจัดเก็บได้และงบประมาณรายจ่ายที่ต้องมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงบประมาณหวังว่าในอนาคตภาวะเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้จะดีขึ้น