ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2562 รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจะยังเป็นประเภทรถยนต์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดรถยนต์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงเช่นเดียวกับปี 2561 แล้ว ยังมีปัจจัยหลักอื่นที่สำคัญอีก 2 ปัจจัย คือ 1.การเดินหน้าลงทุนของค่ายรถยนต์ และ 2.นโยบายภาครัฐ ที่สนับสนุนให้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าน่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีในปี 2562
โดยในส่วนของการเดินหน้าลงทุนของค่ายรถ หากนับจนถึงปัจจุบันมีค่ายรถที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจากบีโอไอ และกำลังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาและศึกษาเพื่อเตรียมยื่นขอส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะหมดเขตในสิ้นปี 2561 นี้ พบว่ามีจำนวนมากถึง 8 ค่ายด้วยกัน ประกอบด้วย โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, มาสด้า, เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู, เอ็มจี และมิตซูบิชิ ซึ่งค่ายรถหลายค่ายต่างเร่งเดินหน้าลงทุน และเตรียมเปิดตัวรถยนต์ในกลุ่มที่ใช้พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ออกมาในปี 2562 อีกหลายรุ่น โดยรถยนต์รุ่นใหม่เหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตที่ต่ำกว่ารถยนต์รุ่นปกติมาก ทำให้ค่ายรถสามารถตั้งราคาที่ดึงดูดผู้ซื้อได้มากขึ้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เมื่อจบปี 2561 นี้ ยอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอาจจะมีจำนวนสูงกว่า 21,000 คัน หรือขยายตัว 75% จากปี 2560 โดยงาน Motor Expo 2018 ครั้งที่ 35 นี้เป็นอีกปัจจัยเร่งหนึ่งที่สำคัญ ทั้งนี้ อาจแบ่งประเภทของรถเป็นยอดขายรถยนต์ไฮบริดประมาณ 12,200 คัน ขยายตัวถึง 270% ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 8,745 คัน ขยายตัวเพียง 1% และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 55 คัน ขยายตัว 104%
เมื่อผนวกเข้ากับการเติบโตของรถยนต์ประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะรถยนต์อเนกประสงค์ SUV ที่เติบโตได้อย่างดีตลอดทั้งปีจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่เป็นที่นิยมของตลาด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยปี 2561 นี้น่าจะขยายตัวสูงประมาณ 18% คิดเป็นตัวเลขยอดขายสูงถึงประมาณ 1,030,000 คัน โดยในจำนวนนี้พบว่ารถยนต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรถยนต์อีโคคาร์มีแนวโน้มขยายตัวสูงถึง 37% ขณะที่รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าคาดว่าจะมียอดขายรวมทุกประเภทเติบโตกว่า 75% จากปี 2560
โดยในครั้งนี้ยอดขายรถยนต์ได้ทะยานกลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับล้านคันอีกครั้ง หลังจากที่เคยทำได้เหนือระดับล้านคันในช่วงปี 2555 ถึง 2556 จากผลของโครงการรถยนต์คันแรก เนื่องจากมีหลายปัจจัยบวกที่เข้ามา เช่น การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ และการเปิดตัวรถรุ่นใหม่หลายรุ่นพร้อมโปรโมชั่นการตลาดที่จูงใจ รวมถึงรถยนต์ในโครงการรถคันแรกชุดสุดท้ายถึงกำหนดครบ 5 ปี เป็นต้น
ส่วนนโยบายรัฐที่พยายามสนับสนุนให้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าเกิดเป็นรูปธรรมในประเทศเร็วยิ่งขึ้น โดยการผลักดันโครงการรถยนต์อีโคคาร์ให้มีการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ด้วย หรือที่เรียกกันว่า "อีโคอีวี" ทั้งในรูปแบบรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเติบโตในไทยเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์อีโคคาร์ไฮบริด ซึ่งมีความเป็นไปได้ก่อนที่ค่ายรถจะเริ่มนำมาทำตลาดในช่วงแรก จากความพร้อมด้านเทคโนโลยี ต้นทุน และโอกาสในการได้รับการตอบรับจากตลาดที่สูงกว่ารถยนต์อีโคคาร์ประเภทอื่นๆ โดยในกรณีที่รถยนต์โครงการอีโคอีวี ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตเช่นเดียวกับรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าประเภทอื่น เช่น การปรับลดภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่ง ก็คาดว่าค่ายรถอาจสามารถตั้งราคารถยนต์อีโคคาร์ไฮบริดได้ใกล้เคียงโดยอาจสูงกว่าราคารถยนต์รุ่นปกติเล็กน้อย ซึ่งระดับราคารถยนต์ที่ไม่ต่างกันมากนี้ คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้สัดส่วนความต้องการรถยนต์อีโคคาร์ไฮบริดเพิ่มสูงขึ้น และกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของตลาดรถยนต์อีโคคาร์ ส่วนรถยนต์อีโคคาร์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์อีโคคาร์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อาจจะต้องรอให้ระดับเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ต่างๆมีความพร้อมมากกว่านี้ รวมถึงในเรื่องของราคาแบตเตอรี่ที่ควรจะต้องลดลงอยู่ในระดับที่จับต้องได้มากขึ้น
จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ายอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศของไทยอาจจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นไปอีกในปี 2562 โดยน่าจะอยู่ระหว่าง 37,000 - 38,500 คัน หรือขยายตัว 76-83% จากปี 2561 โดยแบ่งเป็น ยอดขายรถยนต์ไฮบริดประมาณ 25,100-26,050 คัน หรือขยายตัว 106-114% ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 11,500 - 12,000 คัน หรือขยายตัว 32-37% และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 400 - 450 คัน ขยายตัว 627-718%
อย่างไรก็ตาม แม้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีโอกาสเติบโตได้ดี แต่สำหรับตลาดรถยนต์โดยรวมในปี 2562 กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลง ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการเพิ่มความระมัดระวังดูแลคุณภาพสินเชื่อของบริษัทลีสซิ่งต่างๆ ภายหลังจากพบปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นมาก แม้ตลาดจะมีปัจจัยบวกจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่ายรถต่างๆ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า และการลงทุนภาครัฐกับภาคเอกชนที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศโดยรวมปี 2562 น่าจะปรับลดลงไปสู่ระดับ 980,000 ถึง 1,010,000 คัน หรือหดตัว 2-5% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นการปรับกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น หลังจากที่ในปี 2561 ยอดขายรถยนต์มีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว