ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงแนวโน้มตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2562 คาดว่า จะเห็นอัตราการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อทั้งระบบที่กรอบประมาณ 7.5-9.0% (ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบมีมูลค่าประมาณ 4.0-4.2 แสนล้านบาท) โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเติบโตที่เร่งขึ้นจากการขยายฐานลูกค้าของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ เพื่อชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังอาจไม่ฟื้นตัวนักในช่วงระหว่างปีจากนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2562 มีโอกาสโตสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ ส่วนกลุ่มนอนแบงก์คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจากฐานที่สูง
ขณะที่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 คาดว่า ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ จะเร่งเพิ่มจำนวนบัญชีและยอดคงค้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายรายปีที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งเมื่อผนวกกับปัจจัยหนุนทางด้านฤดูกาลที่ประชาชนมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงสิ้นปีแล้ว น่าจะทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบ ประคองทิศทางการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องมาปิดปี 2561 ที่ใกล้ระดับ 8.0% สูงขึ้นจากที่เติบโต 6.4% ในปี 2560 โดยนโยบายเชิงรุกของธนาคารพาณิชย์คงทำให้สามารถพลิกยอดสินเชื่อส่วนบุคคลกลับมาอยู่ในแดนบวกได้อีกครั้งที่ประมาณ 6.0% หลังจากที่หดตัวตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2558-2560) ในขณะที่ กลุ่มนอนแบงก์นั้นแม้จะใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรายปี และยังคงรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดเอาไว้ได้ แต่เนื่องจากฐานธุรกิจที่มีขนาดใหญ่จึงคาดว่าอาจเห็นอัตราการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อในทิศทางที่ชะลอลงเล็กน้อยมาปิดปีที่ 9.0%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอีกว่า ในปี 62 ช่องทางดิจิทัลจะยังเป็นช่องทางศักยภาพในการเจาะตลาดใหม่ โดยหลังจากที่ผู้ให้บริการได้ทดลองใช้ช่องทางดังกล่าวมาแล้วในปี 61 ทั้งในมิติของการเป็น Search Engine และ Platform สำหรับเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลระหว่างผู้ให้บริการต่างๆ ตลอดจน การเป็นช่องทางที่นำเสนอและอนุมัติผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายนั้น ในปี 2562 คาดว่าผู้ให้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะเดินหน้าพัฒนาช่องทางดิจิทัล เพื่อขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดใหม่ที่ใหญ่ขึ้น โดยมุ่งทำให้ช่องทางดิจิทัลสามารถเริ่มต้นและจบกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อส่วนบุคคลได้อย่างครบถ้วน (End-to-End Process) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวในทางปฏิบัติ จะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมกระบวนการเครดิตต่างๆ อาทิ การเลือกลูกค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมายโดยนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และคัดกรองลูกค้า การอนุมัติสินเชื่อและกำหนดอัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่ม (More Customization) รวมไปถึงการออกแบบรูปแบบการให้บริการที่จะจูงใจให้ลูกค้าทุกกลุ่มเกิดความมั่นใจและความปลอดภัยในการเลือกใช้บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งคงต้องดำเนินการควบคู่กับการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์และการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการอาศัยโมเดลการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ดังกล่าว กำลังก้าวถึงจุดสำคัญของการขยายขนาดตลาดเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ตามที่คาดหวัง จึงทำให้ความท้าทายอยู่ที่การรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อในระยะต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจาก ประการแรก การขยายฐานลูกค้านั้น อาจครอบคลุมมากกว่ากลุ่มลูกค้าเดิม ซึ่งผู้ให้บริการมีข้อมูลประวัติเครดิต การทำธุรกรรม หรือบัญชีเงินเดือน ไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ที่ผู้ให้บริการมีข้อมูลทางการเงินและข้อมูลเชิงพฤติกรรมเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิภาพในการประเมินความเสี่ยงลูกค้า
ประการที่สอง ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มีความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคล ก็เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้เงินในลักษณะฉุกเฉิน รีไฟแนนซ์หนี้ก้อนอื่นๆ หรือใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคประจำวัน จึงทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้สูงอยู่แล้วตามลักษณะธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา จนถึง ณ สิ้นไตรมาส 3/2561 สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยับขึ้นมาที่ 2.64% จาก 2.50% ณ สิ้นปี 2560 ถึงแม้ว่าผู้ให้บริการจะมีการบริหารคุณภาพพอร์ตโดยรวมในเชิงรุก ด้วยการระบายเอ็นพีแอล ผ่านการขายให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์มากขึ้นก็ตาม และประการที่สาม เส้นทางการพัฒนาโมเดลการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลนั้น อาจต้องอาศัยบทพิสูจน์เพิ่มเติมจากการผ่านวัฏจักรเศรษฐกิจและธุรกิจที่มากพอ เพื่อช่วยเพิ่มเติมข้อมูลที่จำเป็นและมากพอต่อการพัฒนาโมเดลการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ดังนั้นแล้ว การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัล แม้จะเป็นช่องทางศักยภาพแต่เนื่องจากผู้ให้บริการยังต้องใช้ความระมัดระวัง ดังนั้นคาดว่าตลาดสินเชื่อผ่านผ่านช่องทางดิจทัลจึงยังมีขนาดเล็กในระยะแรก และการทำตลาดส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยช่องทางเดิมคู่ขนานไปด้วย
ผู้ให้บริการคงหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา ภายใต้แนวโน้มที่ผู้ให้บริการมีแผนขยายกลุ่มลูกค้าไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่คงปะปนด้วยกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการคงต้องนำมาร์จินมาชดเชยโอกาสการถดถอยของคุณภาพหนี้ นอกเหนือจากนั้น คาดว่าผู้ให้บริการคงจะเน้นการใช้กลยุทธ์การดำเนินงานอื่นๆ อาทิ แคมเปญที่กระตุ้นให้เกิดการชำระคืนที่ตรงเวลา เพื่อช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อคุณภาพหนี้อีกทางหนึ่ง
สำหรับประเด็นติดตามอื่นๆ คงได้แก่ ผู้เล่นหน้าใหม่ที่อาจเริ่มเข้าสู่ตลาดในปี 2562 อย่าง P2P Lending Platform ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของทางการและทดสอบระบบ โดยแม้ว่า P2P อาจจะยังมีขนาดตลาดที่ค่อนข้างเล็กในระยะเริ่มต้น แต่ก็มีแต้มต่อเนื่องจากเป็นทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่เปิดกว้าง และอาจจะมีการคิดดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้ยืมผ่านสถาบันการเงิน ขณะที่ คาดว่า ธปท.คงจะติดตามสถานการณ์การแข่งขันและการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลภาพรวมของพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งสุดท้ายแล้ว อาจนำมาสู่การออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อรายย่อยเพิ่มเติมได้ในอนาคต