คลังเผยไตรมาสแรกปีงบ 51 ขาดดุลเงินสด 1.15 แสนลบ. เพิ่มจากปีก่อน 83.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2008 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 51 รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 115,646 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึง 83.9% โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 64,008 ล้านบาท และการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 51,638 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลดังกล่าวโดยการออกพันธบัตร 42,500 ล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 73,146 ล้านบาท
ทั้งนี้การขาดดุลเงินสดที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงดังกล่าว เป็นผลมาจากการเร่งการใช้จ่ายด้านการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึง 176.7% โดยการขาดดุลได้เป็นไปตามเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลของรัฐบาล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต 5% ในปี 51
สำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลตามกระแสเงินสด ในเดือนธ.ค.50 ได้ขาดดุลเงินสดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จำนวน 5,031 ล้านบาท ขณะที่ในเดือน ธ.ค.50 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 95,921 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 0.8% เนื่องจากการลดลงของภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรายได้นำส่งคลังของรัฐวิสาหกิจ ส่วนภาษีที่สำคัญที่สามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ได้แก่ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษียาสูบ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขณะที่รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 110,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 11.8% การเบิกจ่ายที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากคือรายจ่ายลงทุน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 4,188 ล้านบาท หรือ 76.5% โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 50 มีผลบังคับใช้ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัว 13.6% ส่วนรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อนลดลง 18.9%
ทั้งนี้จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนธ.ค.50 ขาดดุล 14,946 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณซึ่งเกินดุล 9,915 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดขาดดุล 5,031 ล้านบาท โดยรัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลด้วยการออกพันธบัตรจำนวน 17,500 ล้านบาท
นายสมชัย กล่าวว่า ฐานะการคลังในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 51 (ต.ค.-ธ.ค.50) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 329,266 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.0% โดยรายได้จัดเก็บที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 393,274 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 31% โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบัน 357,895 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 21.6% ของวงเงินงบประมาณ (1.66 ล้านล้านบาท) และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 35,379 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ