นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) ระหว่างภาครัฐและเอกชนว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนพัฒนาใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ 2.ด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และการแก้ไขปัญหาอุทกภัย 3.ด้านยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต 4.ด้านการท่องเที่ยว และ 5.ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต
สำหรับด้านที่ 1 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์นั้น กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการค้า การลงทุน การค้าชายแดน และการท่องเที่ยว รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลดังนี้
โครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม รวม 6 โครงการ เช่น การก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองเลย, ทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน, การลงทุนระบบขนส่งแบบบูรณาการเพื่อการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัด (ระบบรถ ราง เรือ และสร้างท่าเรือชายฝั่งแม่น้ำโขง, ทางหลวงเชื่อมอุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 139 กม. เพื่อย่นระยะทาง เป็นต้น โครงการขยายช่องทางจราจร รวม 5 โครงการ และโครงการเพิ่มมาตรฐานทางหลวงโดยการขยายไหล่ทาง 6 โครงการ
ด้านที่ 2 แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยขอรับการสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำห้วยบางบาด จ.บึงกาฬ และขอรับสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ในโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำห้วยหมากแข้ง จ.อุดรธานี
ด้านที่ 3 ยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต โดยขอรับการสนับสนุนในโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาการเกษตรครบวงรในพื้นที่มีศักยภาพของกลุ่มจังหวัด โดยส่งเสริมการผลิตผักและสมุนไพร การเลี้ยงโคคุณภาพสูง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร, โครงการพัฒนาและยกระดับตลาดผ้าบ้านนาข่าสู่การเป็น Smart Market เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางตลาดผ้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง, โครงการส่งเสริมการผลิตผ้าไหมและผ้าทอเมืองลุ่มภู เป็นต้น
ด้านที่ 4 การท่องเที่ยว ขอรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยวบ้านเชียง, โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ, การก่อสร้างประติมากรรมพญานาคราชคู่ มิตรภาพแห่งลุ่มแม่น้ำโขง จ.บึงกาฬ เป็นต้น
ด้านที่ 5 การพัฒนาคุณภาพชีวิต ขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งเมืองกีฬา เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านกีฬาของอาเซียน รองรับการขยายตัวของรถไฟความเร็วสูง และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน, โครงการพัฒนาถนนรอบทะเลบัวแดง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเชื่อมโยงการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยการก่อสร้างถนนลาดยางพร้อมเลนจักรยานรอบทะเลบัวแดง ระยะทาง 21 กม., โครงการก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (สามพร้าว), โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Udonthani City), โครงการสร้างพื้นที่จอดรถส่วนบุคคล แก่ผู้ใช้บริการขาเข้า-ขาออกระหว่างประเทศ ณ ด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย, โครงการยกระดับศักยภาพโรงพยาบาลบึงกาฬ, โครงการศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานประจักษ์ศิลปาคม เป็นต้น
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ได้ติดตามงานในส่วนที่รัฐบาลอนุมัติไปแล้ว และพิจารณาเพิ่มเติมใน 5 กลุ่มงาน ทั้งการคมนาคมขนส่งที่มีการก่อสร้างถนน 67 โครงการตามแผนงานในปี 2562 และบางส่วนจะอยู่ในแผนแม่บทต่อไป ซึ่งหากจำเป็นก็อาจต้องมีการปรับแผน รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้เพียงพอ การยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การพัฒนาเกษตรครบวงจร ยกระดับการตลาด และเรื่องการท่องเที่ยวตามวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง ซึ่งทุกโครงการได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ทำงานประสานเชื่อมโยงกัน โดยรัฐบาลจะเข้าไปช่วยส่งเสริม
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งได้กำหนดให้มีเมืองกีฬาในประเทศไทย 5-6 จังหวัด โดยจังหวัดอุดรธานีจะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะได้รับงบประมาณในส่วนนี้ รวมถึงจะเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาผู้ป่วยฉุกเฉิน ยกระดับคุณภาพโรงพยาบาล เพิ่มศูนย์การแพทย์แผนไทย ซึ่งรัฐบาลก็รับไปพิจารณาอยู่ในแผนการพัฒนาต่อไป เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่หนองคาย-บึงกาฬ และลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการทำงานตามปกติ ไม่ได้มาทางการเมือง เป็นการทำงานของรัฐบาลปกติที่มีหน้าที่ในการพบปะเยี่ยมเยียนประชาชน
ส่วนกรณีที่แจกซิมอินเตอร์เน็ตให้ผู้มีรายได้น้อยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
"ขออย่ามองว่ากลุ่มทุนรายใหญ่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ เพราะรายเล็กไม่มีใครทำ และที่แจกซิมไม่ได้ต้องการให้ใช้คุยกัน แต่ต้องการให้ทุกคนได้เรียนรู้ระบบดิจิทัล เพื่อประโยชน์สูงสุด" นายกรัฐมนตรีกล่าว