ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เดินหน้าเพิ่มศักยภาพผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งการพัฒนาอาชีพเดิม การสร้างอาชีพเสริม และการปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ผ่านโครงการฝึกอาชีพและการให้ความรู้ทางการเงิน แล้ว กว่า 2.76 ล้านราย พร้อมสนับสนุนสหกรณ์ 269 แห่ง และ SMAEs ในพื้นที่กว่า 10,000 ราย ทำหน้าที่เป็นหัวขบวนสร้างรายได้
นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อเกษตรกรรายย่อยและแก้หนี้นอกระบบ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การพัฒนารายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยภายใต้มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและอยู่ในความรับผิดชอบของ ธ.ก.ส. จำนวน 4,086,035 ราย โดยมีผู้มาสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการจำนวน 4,051,454 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ประสงค์พัฒนาตนเองและพัฒนาอาชีพตามโครงการ ด้วยการฝึกอบรมและเสริมทักษะด้านอาชีพจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและการให้ความรู้ทางการเงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 2,765,335 ราย และไม่ประสงค์พัฒนาแต่ต้องการดำรงชีวิตพอเพียง จำนวน 1,286,119 ราย
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้มีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการด้านการเกษตรในพื้นที่ หรือ SMAEs และองค์กรของเกษตรกร เช่น สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นหัวขบวนในการรับซื้อผลผลิตการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพและรายได้ ให้ผู้มีรายได้น้อยในทุกจังหวัด
โดยปัจจุบันมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 269 แห่ง และ SMAEs จำนวน 9,765 ราย มีผู้เข้าร่วมพัฒนารายได้ผ่านหัวขบวนดังกล่าว 195,692 ราย ซึ่งการดำเนินงานตามแผนพัฒนาดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบ ธ.ก.ส. มีรายได้ในปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 1.2 ล้านราย
นอกจากแผนพัฒนาอาชีพ ธ.ก.ส.ยังได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบบครบวงจรผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย มาตรการลดภาระหนี้สิน ได้แก่ 1) โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผู้มีรายได้น้อย จำนวน 731,254 ราย จำนวนเงิน 132,969 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อแก้ไข หนี้นอกระบบ จำนวน 4,591 ราย จำนวนเงิน 381 ล้านบาท 3) โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน จำนวน 100,195 ราย จำนวนเงิน 4,848 ล้านบาท 4) โครงการชำระดีมีคืนจำนวน 1,301,383 ราย จำนวนเงิน 2,842 ล้านบาท 5) โครงการสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 3,089 ราย วงเงิน 90.29 ล้านบาท
มาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพ(XYZ) จำนวน 2,188 ราย จำนวนเงิน 462 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย จำนวน 79,321 ราย จำนวนเงิน 3,829 ล้านบาท
และมาตรการพัฒนาตนเอง ได้แก่ 1) โครงการให้ความรู้ทางการเงินจำนวน 913,895 ราย 2) โครงการส่งเสริมการออมผ่านกองทุนทวีสุข จำนวน 37,350 ราย จำนวนเงิน 39.84 ล้านบาท
นายภานิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจังหวัดหนองคาย มีเกษตรกรผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 38,183 ราย มาสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการแล้วเต็มจำนวนประสงค์พัฒนาตามโครงการ จำนวน 27,045 ราย และต้องการดำรงชีวิตพอเพียง จำนวน 11,138 ราย