นายกฯ เล็งนำโมเดลจีนมาพัฒนาร้านโชห่วย หวังดันเป็นห้างใหญ่ในโลกดิจิทัล เพิ่มศักยภาพแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday December 15, 2018 10:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) ว่า รัฐบาลวางแนวทางการสนับสนุนร้านค้าขนาดเล็ก หรือโชห่วย ที่มีอยู่ทั่วประเทศราว 370,000 ร้านค้า เพื่อให้ปรับตัวและแข่งขันในธุรกิจได้ โดยเตรียมจะนำโมเดล "โย๋ เล่อ" (Ule Model) ของจีนมาใช้ในการพัฒนาร้านค้า ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับร้านค้าเล็ก ๆ ในชนบท โดยเปิดเป็นแพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในร้านค้า ให้ร้านค้าในชนบทและทั่วประเทศเข้าไปจำหน่ายสินค้าขายแบบออนไลน์ ทำให้ร้านโชห่วยกลายสภาพเป็นห้างใหญ่ในโลกดิจิทัล หรือเป็น "โชห่วย 4.0" ที่สามารถขายสินค้าทุกชนิดที่ต้องการขายได้ โดยไม่ต้องสต็อกสินค้าไว้จำนวนมาก

ทั้งนี้ นอกจากจะมีสินค้าอุปโภค บริโภคทั่วไปในการจำหน่ายแล้ว ยังจะมีโอกาสนำสินค้าเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ หรือของดี ของเด่นของชุมชน เช่น สินค้าหัตถกรรม OTOP เข้าร่วมได้ด้วย โดยร้านโชห่วยที่เข้าร่วม ก็จะต้องสแกนรหัสสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องดื่ม ไปจนถึงผัก ผลไม้ต่าง ๆ เข้าไปในระบบ ทำให้ในแพลตฟอร์มมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ผู้ซื้อในทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันที ซึ่งร้านค้าที่อยู่ในชุมชนสามารถนำไปส่งให้ถึงที่ หรือหากอยู่ไกลจากแหล่งสินค้า ก็สามารถให้ไปรษณีย์จัดส่งสินค้าให้ได้ ซึ่งโมเดลนี้ จะลองนำมาปรับใช้กับร้านโชห่วยของไทย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น โดยบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการให้บริการแพลตฟอร์มโย๋ เล่อนี้ จะส่งทีมมาให้คำแนะนำกับไทยในช่วงต้นปี 2562 นี้ด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการโชห่วยออนไลน์ เป็นแนวคิดในการพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง (หรือ Business to Business) ผ่านแอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์ มาทำเป็นแพลตฟอร์มในการสั่งซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยไปยังผู้ผลิตสินค้าโดยตรง ซึ่งการดำเนินการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน

โดยในการดำเนินงาน บริษัทไปรษณีย์ไทยฯ จะพัฒนาช่องทางในการรับคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และการบริหารสต็อก สินค้า และคำสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการด้านการขนส่ง โดยกระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับผู้ผลิตสินค้าในเรื่องราคา และคัดเลือกร้านค้าโชห่วยที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนเพื่อกระจายสินค้าผ่านร้านโชห่วยในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย ในขณะที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนด้านสินเชื่อการค้า หรือสินเชื่อในการสั่งซื้อสินค้าให้กับร้านค้าโชห่วยที่เข้าร่วมโครงการ การดำเนินโครงการนี้ จะทำให้ร้านค้าโชห่วย สามารถซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้ในราคาที่ถูกลง และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน มีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือนมกราคม 2562

ขณะเดียวกันที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินโครงการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ลงพื้นที่ทั่วประเทศไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อจะช่วยปรับภาพลักษณ์ "ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ" และ "ร้านโชห่วย" ให้มีการจัดร้านในรูปแบบ "5 ส" คือ สวย สว่าง สะอาด สะดวก สบาย และยังได้แนะนำให้ความรู้พื้นฐานในการบริหารจัดการร้านค้า เพื่อให้สามารถปรับตัว แข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น มีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้นในระยะยาว ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 4,500 ร้านค้า จากเป้าหมาย 10,000 ร้านค้าทั่วประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ