คาดกนง.พรุ่งนี้คงดอกเบี้ยแม้เงินเฟ้อสูง รอการเมืองชัดฟื้นความเชื่อมั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2008 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพรุ่งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น ชี้ปัจจัยหลักมาจากความต้องการภายในประเทศ ซึ่งขึ้นกับการเมืองเป็นหลัก เพราะหากได้รัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจชัดเจน ความเชื่อมั่นก็จะกลับมาได้ โดยมองว่าดอกเบี้ยนโยบาย และดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์มีโอกาสปรับขึ้นได้ในในช่วงครึ่งปีหลัง 
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดว่า ในการประชุม กนง.วันพรุ่งนี้คงจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากสัญญาณของอุปสงค์ภายในประเทศ(domestic demand)ที่เป็นแรงกดดันเงินเฟ้อยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่การที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น มาจากแรงกดดันด้านต้นทุนในเรื่องของราคาน้ำมันมากกว่า
ส่วนแนวโน้มต่อไปเชื่อว่า ธปท.จะพิจารณาปัจจัยจาก domestic demand หากกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่รุนแรง ก็เชื่อว่า ธปท.คงมีโอกาสพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ domestic demand จะฟื้นได้เมื่อไหร่ ต้องดูปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศ
ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า กนง.คงไม่เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องพิจารณาความเสี่ยงทั้งเรื่องเงินเฟ้อและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยชัดเจน เป็นผลมาจากการรอความชัดเจนทางการเมืองเพื่อให้มีการตั้งรัฐบาล และมีการแถลงนโยบายเศรษฐกิจต่อสภาฯ เพื่อให้ความเชื่อมั่นเอกชนกลับคืนมา
"เป็นไปได้ที่ในครึ่งปีแรกจะคงอัตราดอกเบี้ย และถ้าเศรษฐกิจดีช่วงครึ่งปีหลังความเชื่อมั่นกลับมาก็เป็นไปได้ที่แบงก์ชาติจะพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ย...ดอกเบี้ยนโนบายคงจะสะท้อนภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่กลับคืนมาและโมเมนตั้มของดอกเบี้ยก็จะกลับเป็นขาขึ้น"นายเชาว์ กล่าว
แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้น 0.25-0.50% หากเทียบกับเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้มากกว่า 3% สูงกว่า 2.3% ในปีที่แล้ว
นายเชาว์ กล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ว่า ที่ผ่านมาได้ทยอยปรับไปแล้วหลายธนาคารส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยระยะ 8-9 เดือน ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้คาดว่าน่าจะค่อยๆ ขยับขึ้นในช่วงปลายปี เนื่องจากผลกระทบของต้นทุนเงินฝากกว่าจะสะท้อนออกมาคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่ได้ขึ้นกับต้นทุนเงินฝากเพียงอย่างเดียว ต้องดูการทำธุรกิจประกอบด้วย หากความต้องการสินเชื่อมีมากและขยายได้ตามเป้าหมาย และลูกค้ามีความสามารถชำระหนี้ได้ดีขึ้น ธนาคารก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้
"ปัจจัยหลัก ให้รอดูความเชื่อมั่นทางการเมืองก่อน เพราะถ้าการเมืองกลับมามีเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็จะกลับฟื้นคืนมาอย่างเต็มที่ เศรษบกิจก็จะกลับสู่ภาวะปกติ" นายเชาว์ ระบุ
นายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดการณ์ว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมที่ 3.25% เนื่องจากความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกันการลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะช่วยชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาท เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจาก sentiment ดอลลาร์ที่อ่อนค่า ประกอบกับการที่ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ทำให้คาดว่าจะเงินทุนระยะสั้นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของไทย
ส่วนทิศทางของดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าน่าจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 51 ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ และความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศด้วย
นายตรรก กล่าวว่า จะพบว่าขณะนี้ธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางบางแห่งเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไปบ้างแล้ว ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น คาดว่าธนาคารขนาดเล็กอาจจะทยอยปรับขึ้นตามมา ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพคล่องของแต่ละธนาคารด้วย เช่นเดียวกับธนาคารขนาดใหญ่ ถ้ายังคงมีสภาพคล่องใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ก็เชื่อว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะนี้
"ของธนาคารกรุงศรีฯ ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการติดตามดูอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องพิจารณาธนาคารอื่นๆ ประกอบด้วย" นายตรรก กล่าว
ด้านนายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ (TISCO) กล่าวว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้น่าจะคงที่ แต่มีแนวโน้มขึ้นได้อีกเล็กน้อยในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คงขึ้นกับสภาพคล่องในระบบ และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยชะลอด้วย ซึ่งจะทำให้ความต้องการเงินกู้จะลดลง ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ดอกเบี้ยก็ไม่จำเป็นต้องขึ้น ประกอบกับมองว่าปีนี้ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากน่าจะถึง 3% จากราคาน้ำมัน และเงินเฟ้ออาจเกินดอกเบี้ยรับของธนาคารด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ