นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิด "เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทย ฉบับใหม่ (Public Hearing)" ที่กรุงเทพฯ โดยการจัด Public Hearing นี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่มีต่อร่างแผน PDP ฉบับใหม่ จากทุกภาคส่วน เพื่อประมวลความคิดเห็นต่างๆ นำมาปรับปรุงแผนฯ ฉบับใหม่ให้เกิดความสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับร่างแผน PDP ฉบับใหม่ มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างจากแผนฉบับเดิม คือ ระยะเวลาช่วงปลายแผนจะสิ้นสุดปี 2580 จากเดิมปี 2579 โดยการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในแผนใหม่จะพิจารณาถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นรายภูมิภาค จากเดิมเป็นการพยากรณ์ความต้องการรวมทั้งประเทศ แล้วจึงจัดสรรโรงไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ รวมทั้งแผนใหม่ยังคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้การผลิตไฟฟ้าใช้เองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากโซลาร์เซลล์เข้ามาในระบบอาคาร โรงงานมากขึ้น
"ในภาพรวมร่างแผนฯ ฉบับใหม่เมื่อพิจารณาความมั่นคงของโรงไฟฟ้าเป็นรายภาคโดยยึดกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้โรงไฟฟ้าที่มีสัญญาอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2561-2568 พบว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า จึงยังไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แต่หลังจากปี 2568 ไปแล้วกำลังการผลิตที่เชื่อถือได้จะเริ่มต่ำกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า และคาดว่าช่วงปลายแผนปี 2580 กำลังการผลิตที่เชื่อถือได้จะต่ำกว่าความต้องการใช้ 27,000 เมกะวัตต์ จะต้องเริ่มมีการจัดสรรโรงไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาเติมในระบบ" ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
นอกจากนี้ ตามร่างแผน PDP ใหม่ คาดว่าค่าไฟฟ้าจะไม่สูงกว่าค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยคาดว่าค่าไฟฟ้าขายปลีกตลอดแผนจะอยู่ที่ราว 3.576 บาท/หน่วย ต่ำกว่าแผน PDP ฉบับเดิมที่อยู่ราว 5.55 บาท/หน่วย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงมาใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเป็นสัดส่วน 53% ในปี 2580 จากแผนเดิมที่ 37% ในปี 2579 เนื่องจากปัจจุบันมีซัพพลายก๊าซฯ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)ในตลาดเพิ่มขึ้นและราคาถูกลง
สำหรับหลักการในการจัดสรรกำลังผลิตที่เชื่อถือได้เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าไปถึงปี 2580 ได้วางแนวทางในการจัดสรรโรงไฟฟ้าโดยพิจารณาจาก 4 แนวทาง คือ 1) โรงไฟฟ้าจากนโยบายส่งเสริมภาครัฐ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 2) โรงไฟฟ้าหลักจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ละภาคต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวมาจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาอยู่แล้วทั้งจากโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) โรงไฟฟ้าผู้ผลิตขนาดเล็ก (SPP) และจากการนำเข้าจาก สปป.ลาว
3) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โซลาร์ภาคประชาชน โซลาร์ลอยน้ำ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 18,000 เมกะวัตต์ โดยต้องรักษาระดับราคาขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น และ 4) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ที่สามารถพิสูจน์ความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพและแข่งด้วยราคาได้ คือแผนใหม่จะพิจารณาต้นทุนของการลดใช้พลังงานจะต้องเป็นราคาที่แข่งขันได้เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งแผนอนุรักษ์พลังงานด้านไฟฟ้าตลอดแผน PDP ฉบับใหม่ มีประมาณ 4,000 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ แนวทางการปรับปรุงแผน PDP ฉบับใหม่ ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ด้านคือ 1. ด้านความมั่นคง (Security) สร้างสมดุลระบบไฟฟ้าตามรายภูมิภาค มีการพิจารณาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม และเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า 2. ด้านราคา (Economy) โดยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อรักษาระดับราคาไฟฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดสู่การที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ผลิตเอง (Prosumer) ในอนาคตด้วย
สำหรับการเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพีดีพี ฉบับใหม่ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคต่างๆ และที่กรุงเทพฯ ซึ่งผลจากการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดทุกเวที ทางกระทรวงพลังงาน จะรวบรวมเพื่อใช้ในการปรับปรุงร่างแผน PDP ฉบับใหม่ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป