สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอล ตั้งเป้าผลิต 11.3 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 4,124 ล้านลิตรต่อปี ภายในปี 2579

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 17, 2018 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน อุปนายก รักษาการนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลประเทศไทยยังสร้างประโยชน์และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชอ้อยและมันสำปะหลังที่มีมูลค่าสูงขึ้นมากกว่าแค่พืชเกษตร และส่งเสริมอาชีพให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเอทานอลสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไปแล้ว 94,000 ล้านบาท

โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 – ต.ค.2561 โครงการใช้เอทานอลได้สร้างเม็ดเงินไปสู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยรวมกว่า 66,000 ล้านบาทผ่านการใช้กากน้ำตาลกว่า 27.5 ล้านตันเป็นวัตถุดิบ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 38,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นการใช้มันสำปะหลังกว่า 16.3 ล้านตันเพื่อผลิตเอทานอล อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร และช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากมูลค่าของกากน้ำตาลจากปีละ 1,000 ล้านบาทในช่วงก่อนมีโครงการเอทานอล เป็นปีละ 9,600 ล้านบาท

"อุตสาหกรรมเอทานอลมีส่วนช่วยพยุงราคามันสำปะหลังไม่ให้ตกต่ำจนเกินไปมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2559 กระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือแบะเซ็น MOU ขอให้ช่วยซื้อมันสำปะหลังในราคาที่สูงเพื่อช่วยพยุงราคามันสำปะหลัง และในปี 2560 ราคามันสำปะหลังค่อยข้างตกต่ำ เราก็ได้มีการใช้มันสำปะหลังผลิตเอทานอลมากขึ้น"

นายเจษฎา กล่าวว่า จากนี้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) ของภาครัฐยังส่งเสริมการนำอ้อยมาเพิ่มมูลค่าตั้งแต่การผลิตเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิง การต่อยอดสู่พลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางพลังงาน ตั้งแต่ปี 2549 - ต.ค.2561 ประเทศไทยใช้เอทานอลแทนการนำเข้าน้ำมันมากถึง 9,750 ล้านลิตร หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 160,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สมาคมฯ มุ่งหวังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเอทานอลไทยให้มีความมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมอาชีพ-สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต โดยมีเป้าหมายของแผนผลิตเอทานอล 11.3 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 4,124 ล้านลิตรต่อปีภายในปี 2579 จากปัจจุบันกำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 5.8-6 ล้านลิตรต่อวัน

นายชุมพล สุรพิทยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการให๋วางแผน บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) กล่าวว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมเอทานอลอาจต้องเผชิญปัจจัยท้าทายในอนาคต หากมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ การใช้รถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้กระบวนการขนส่งในภูมิภาคต่างๆ สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องวางแผนเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น เร่งพัฒนาศักยภาพธุรกิจที่มีอยู่ให้ดีที่สุด ส่งเสริมการขยายสถานีบริการน้ำมันให้สามารถบริการให้แก่ผู้บริโภคอย่างทั่วถึง รักษาการเติบโตในผลิตภัณฑ์กลุ่มเบนซินได้อย่างต่อเนื่อง รักษาเป้าหมายการเติบโตที่ 5.8% จนถึงปี 2579 สร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนการใช้ทรัพยากรในประเทศให้มากขึ้น และดูแลต้นทุนให้สามารถแข่งขันกับพลังงานจากทรัพยากรอื่นๆ ได้

ในส่วนของการวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ เรามีสถาบันนวัตกรรมของ ปตท. ทำให้กระบวนการผลิตเอทานอลให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่ม Yield ก็จะสามารถทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ประสิทธิภาพประสิทธิผลของการได้มาในส่วนของเอทานอลมีมากขึ้น

ด้านนายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความเกี่ยวข้องกับเอทานอลค่อนข้างมาก และแนวโน้มของอุตสาหกรรมเอทานอลยังสดใส เนื่องจากค่ายรถยนต์ให้ความสำคัญกับการรถที่ใช้ E85 และ E20 มากขึ้นหลังมีการพูดคุยและวางแผนกับภาครัฐ

ปี 2017 ทั้งโลกมีการผลิตรถยนต์ 97-98 ล้านคัน โดยไทยผลิตได้ 2 ล้านคัน อยู่อันดับ 12 ของโลก เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โอเชเนีย และ ตะวันออกกลาง ส่วนปี 61 นี้คาดว่าเราจะผลิตได้ 2,100,000 คัน ทุกค่ายทุกประเทศให้ความสำคัญกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น

นายสมชาย สถากุลเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปฏิรูปพลังงาน การสนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ถือเป็นนโยบายสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริมเอทานอล มี 3 ระดับ คือ ระดับต้นน้ำ คือในส่วนของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นอ้อย กากน้ำตาล มันสำปะหลัง มีการซื้อขายตามกลไกตลาด มีการบริหารจัดการวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพทั้งการปลูกการขนส่ง

ระดับกลางน้ำของการผลิตเอทานอลคือมีโรงงานผลิตเอทานอลเพียงพอต่อความต้องการ มีต้นทุนที่เหมาะสม ทางกรมฯอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะใช้ยีสต์ตัวไหนทำยังไงเพื่อ Yield ในการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นได้

ระดับปลายน้ำ คือการทำการใช้เอทานอลเป็นไปตามเป้าหมาย ให้ราคาเหมาะสม มีรถยนต์ รถจัรกยานยนต์ที่ใช้เอทานอลมากขึ้น ที่สำคัญคือมีสถานีบริการที่เพียงพอต่อความต้องการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ