นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่อาจเป็นปัญหาจ่ายในการค่าอ้อยให้แก่เกษตรกร ซึ่งได้เริ่มทยอยส่งผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2561/62 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา
ซึ่งตาม มาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องจ่ายชดเชยเงินส่วนต่างระหว่างค่าอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นกับขั้นสุดท้าย ของฤดูการผลิตที่แล้วคืนให้แก่โรงงาน เนื่องจากโรงงานได้จ่ายค่าอ้อยขั้นต้นสูงเกินกว่าขั้นสุดท้าย ประมาณ 13,600 ล้านบาท ไม่รวมเงินชดเชยส่วนต่างผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่โรงงานจะได้รับอีกประมาณ 5,800 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 19,400 ล้านบาท ซึ่งโรงงานจะได้นำไปชำระหนี้คืนหนี้คืนสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่อไป
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ยังต้องจัดหาเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำไปซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ โดยจำนำน้ำตาลทรายเป็นหลักประกัน หากโรงงานจะขอสินเชื่อเพิ่มอีก สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อเพิ่มได้อีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเครดิตและหลักประกันเงินกู้ของแต่ละโรงงาน โดยโรงงานต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นด้วย
ดังนั้น สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อจึงต้องการทราบแผนและวิธีการจัดหาเงินชดเชยดังกล่าวจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และรวมทั้งหลักประกันหรือที่มาของแหล่งรายได้ที่โรงงานจะจัดหามาชำระหนี้ หากโรงงานจำเป็นต้องขอกู้เพิ่มเติม
"โรงงานน้ำตาลทรายทุกแห่ง ต่างรอเงินชดเชยส่วนต่างที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะนำมาคืนให้แก่โรงงาน เพื่อนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินและใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 125 ล้านตัน หากกองทุนฯ ดำเนินการล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของโรงงานที่อาจมีเงินไม่เพียงพอไปจ่ายค่าอ้อยปีนี้ และใช้ในการส่งเสริมชาวไร่ปลูกอ้อยสำหรับฤดูการผลิตหน้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้" นายสิริวุทธิ์ กล่าว