นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX : TCC-CI) ประจำเดือน พ.ย.61 อยู่ที่ระดับ 48.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 48.0 ในเดือนต.ค.61 ขณะที่มุมมองต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตช่วง 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 50.5 จากระดับ 50.2 ในเดือนต.ค.61
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประธานกรรมการหอการค้าจังหวัด และกรรมการหอการค้าในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศรวม 333 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-5 ธ.ค.61 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ได้แก่ การใช้จ่ายและการลงทุนต้นปีงบประมาณของภาครัฐบาล, การเติบโตอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยวปลายปี, การนำเข้า-ส่งออก ยังส่งสัญญาณการเติบโต, การจ้างงานในอุตสาหกรรมบริการสำหรับดำเนินกิจการในช่วง High season และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าว
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ส่งผลในเชิงลบเช่น ปัญหาความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3, การปรับตัวลดลงของการลงทุนภาคเอกชน, การลดลงของภาคการค้าชายแดน, ปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาท และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค แยกได้ดังนี้ 1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่ามีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยวในช่วงปลายปีที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเดินทางเข้ามาใน กทม.และปริมณฑลมากขึ้น, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล, การจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีของประชาชน ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาค่าครองชีพในเมืองของประชาชน, ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง, ปัญหาด้านแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการ โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ ปัญหาค่าครองชีพในเมืองที่อยู่ในระดับสูง
2. ภาคกลาง ได้รับปัจจัยหนุนสำคัญจากการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงต้นปีงบประมาณ, ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสำหรับการลงทุนธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา, อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ กำลังซื้อของประชาชนชะลอตัวลง, ปัญหาด้านการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่ยังขาดประสิทธิภาพ, ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้รายได้เกษตรกรชะลอตัวลงเล็กน้อย, การเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจค่อนข้างยาก โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ ปัญหาราคาสินค้าเกษตร และปัญหาสภาพคล่องของ SMEs
3. ภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง, การท่องเที่ยวหัวเมืองชายทะเลที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ยังคงขยายตัว, การขยายตัวของธุรกิจภาคบริการในพื้นที่จากการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น การลดลงของการลงทุนภาคเอกชน, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีนและรัสเซียยังชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า, ปัญหาการว่างงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก และปัญหาความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ การพัฒนาบุคคลให้สอดคล้องความต้องการอุตสาหกรรม, ส่งเสริมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และปรับปรุงผังเมือง
4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว, ผลผลิตด้านการเกษตรมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเล็กน้อย, การบริโภคและการค้ามีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น การลดลงของการค้าชายแดน, ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ, ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะทางด้านของราคาพลังงาน โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ พัฒนาการวางแผนเมืองที่สอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และพัฒนาการค้าชายแดน
5. ภาคเหนือ ปัจจัยหนุนสำคัญ คือ การเข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยวภาคเหนือ, สถานการณ์สินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีปัจจัยลบจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ยังชะลอตัวเล็กน้อย, ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจ, ค่าครองชีพที่สูงขึ้น, การค้าชายแดนที่ปรับตัวลดลง โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร, พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
6. ภาคใต้ ได้รับปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาในบางส่วนตามฤดูกาล โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว High end, การใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 62 แต่ยังมีปัจจัยลบ เช่น ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อความปลอดภัย จำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังกลับมาไม่เป็นปกติ การลดลงของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และปัญหาราคาสินค้าเกษตรทั้งปาล์ม และยางพารา โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ กระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว จัดการปัญหามลพิษ ทั้งขยะ น้ำเสีย และอากาศ