ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบศก.ปี 62 หากปัจจัยเสี่ยงลด H2/62 ขึ้นอีกรอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 19, 2018 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.50% เป็นระดับ 1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 7 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ในอนาคตนั้น ผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ไม่น่าจะส่งผลต่อภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางระดับสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่อยู่ในระดับสูง

โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้คงมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่จำกัด เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริงคงอยู่ในระดับที่น้อยกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ที่ 0.25% เพราะสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋วแลกเงินของไทยเดือนตุลาคมของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศของไทย 14 แห่งอยู่ที่ระดับ 86.7% ขณะที่ระดับสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีสูงถึงเกือบ 4 ล้านล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับอุปสงค์การเติบโตของสินเชื่อในระยะข้างหน้า ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์คงจะพิจารณาให้เหมาะสมกับอุปสงค์การกู้ยืม ความสามารถของการชำระหนี้โดยรวมของลูกหนี้ รวมทั้งต้นทุนของเงินฝากที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง โดยมองว่า กนง.น่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระยะข้างหน้าอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้คงเป็นไปในลักษณะที่ไม่ต่อเนื่อง โดย กนง.คงจะประเมินความพร้อมของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ก่อนที่จะมีการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2562

การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของ กนง.อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าที่ยังมีความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ค่อนข้างผ่อนคลายอยู่ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกโดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ความชัดเจนน่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2562 ดังนั้น กนง.คงจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลของการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่มาตรการดูแลเสถียรภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ (Macro Prudential) ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาส 2/2562 คงช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้บางส่วน ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจยังมีความเหมาะสม โดย กนง.อาจเว้นระยะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 แต่หากปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าปรับตัวลดลง อาจจะเปิดโอกาสให้ กนง.สามารถพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ