นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. ชี้แจงว่า การทำถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์ในโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรของรัฐบาลนั้น กรมทางหลวงได้จัดทำคู่มือการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (ยางพารา) สำหรับงานท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในแนวทางปฏิบัติ โดยในส่วนของการนำยางพาราไปใช้ในการทำถนนด้วยการนำน้ำยางสดหรือน้ำยางข้นผสมกับสารผสมเพิ่ม (NR-Pleblend) เพื่อปรับปรุงคุณภาพ และปรับเปลี่ยนคุณสมบัติบางประการของน้ำยางพาราให้มีคุณสมบัติทางวิศวกรรมกำหนด
สำหรับราคากลางที่กรมบัญชีกลางออกมาทั้ง 2 ฉบับ คือ หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 4 ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของกระบวนการและราคา โดยประมาณการราคา ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2561 ไว้ดังนี้ สำหรับหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 2 คำนวณจากราคาน้ำยางข้น FOB และมีกระบวนการทำถนนแบบผสมในโรงผสม เมื่อทดลองคิดราคาตามมาตรฐานของกรมบัญชีกลางอยู่ที่ประมาณ 1.23 ล้านบาทต่อกิโลเมตร (กว้าง 6 เมตร ระยะทาง 1 กม.) และสำหรับหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 4 คำนวณจากราคาของน้ำยางสด ตามประกาศราคาของการยางแห่งประเทศไทย และขั้นตอนการทำถนนเป็นวิธีการแบบใช้รถเกลี่ย (Motor Glade) เมื่อทดลองคิดราคาตามมาตรฐานของกรมบัญชีกลางอยู่ที่ประมาณ 1.12 ล้านบาทต่อกิโลเมตร (ถนนกว้าง 6 เมตรยาว 1 กม.) ซึ่งราคาที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับการประมูลงานในแต่ละท้องที่ และการจัดซื้อจัดจ้างทำถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์ ก็ขึ้นอยู่กับส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ว่าจะสะดวกดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบใด
นายเยี่ยม กล่าวว่า ขอให้ผู้ที่ผลิตน้ำยางผสมสารเคมี หรือผู้ผลิตน้ำยาที่ใช้ในการผสมกับน้ำยางเพื่อใช้ในการทำถนนพาราซอยด์ซีเมนต์แจ้งรายละเอียดกับทางฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. เพื่อจะได้ส่งรายชื่อบริษัทผู้ผลิตน้ำยางดังกล่าวให้กับผู้ใช้งานโดยตรง