BAY เผยบาทช่วงเปิดตลาดอ่อนค่าหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด จับตาผลประชุม BOJ-BoE วันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 20, 2018 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีความเห็นกรณีที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ช่วง 2.25-2.50% หลังสิ้นสุดการประชุมวันที่ 19-20 ธันวาคม นับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 9 ของวัฎจักรคุมเข้มนโยบายการเงินซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 โดยเฟดระบุว่าตลาดแรงงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯอยู่ในภาวะแข็งแกร่งแม้การลงทุนเติบโตในระดับปานกลาง ขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ใกล้ระดับ 2%

โดยเงินบาทอ่อนค่าสู่ระดับ 32.75 บาท/ดอลลาร์ในช่วงเปิดตลาดเช้านี้ ขณะที่เงินดอลลาร์ปรับตัวอย่างไร้ทิศทางเมื่อเทียบกับกลุ่มสกุลเงินหลัก ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปี ลดลงสู่ระดับ 2.76% ซึ่งสูงกว่าพันธบัตรระยะ 2 ปีเพียง 0.12% และดัชนีสำคัญของตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวลดลง 1-2%

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ประเด็นสำคัญในการประชุมรอบนี้ คือ เฟดแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและสถานการณ์การเงินของโลกที่มีต่อสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป สนับสนุนมุมมองของ BAY ที่ว่าเฟดอาจตัดสินใจยุติการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ทั้งนี้เฟดได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ รวมถึงปรับลดประมาณการสำหรับจำนวนครั้งที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 เป็น 2 ครั้ง จากเดิม 3 ครั้ง

อย่างไรก็ดี ตลาดมองว่าการปรับลดประมาณการนี้ยังไม่มากพอที่จะช่วยคลายความกังวลต่อผลเชิงลบจากการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวหลังการประชุมว่า เฟดจะยังคงเดินหน้านโยบายปรับลดขนาดงบดุลลง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เพิ่มความวิตกว่าภาวะการเงินจะตึงตัวมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนไม่แน่ใจเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ขณะที่ BAY คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งสำหรับวัฎจักรนี้ ทั้งนี้ BAY ประเมินว่าแม้เงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มกลับทิศทางเป็นอ่อนค่าลงในปีหน้า แต่แรงกดดันต่อดอลลาร์จะยังถูกจำกัดโดยภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางและความไม่แน่นอนจากทางฝั่งยุโรปเป็นสำคัญ สำหรับปัจจัยชี้นำถัดไปในช่วงสั้นๆ จะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในวันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ