นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการจัดงานสัมมนา "พลิกวิกฤตเป็นโอกาสอุตสาหกรรมเนื้อโคไทย สู่การเปิดเสรีการค้า"ว่า การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ และเผยแพร่ข้อมูลความสำเร็จของโครงการกองทุน FTA ที่ได้ให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมโคเนื้อที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ตลอดจนแนวทางการปรับตัวหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือ และยังใช้เป็นเวทีรวบรวมความคิดเห็นสำหรับการดำเนินงานต่อยอดของกองทุน FTA ในอนาคต
โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อโค และสมาชิกจากสหกรณ์หรือกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อจากหลายจังหวัด เช่น สหกรณ์โคเนื้อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด, สหกรณ์โคขุนสระแก้ว หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.), สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์, กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด, สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด สาขาปศุสัตว์สหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย พัทลุง จำกัด สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อไทยแบล็ค โคราช เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
นอกจากนี้ ภายในงานยังประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การจัดแสดงผลิตภัณฑ์เนื้อโคพร้อมให้ชิม และการจัดนิทรรศการจากสหกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้นำเข้า-ส่งออก และสมาชิกจากสหกรณ์ต่างๆ ได้พบปะและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
นายสิทธิพร บุรณนัฎ ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ กล่าวว่า ผลของการสนับสนุนจากกองทุน FTA ได้มีส่วนช่วยในการสนับสนุนและผลักดันความสำเร็จในการสร้างตราสินค้าโคเนื้อคุณภาพให้เป็นที่รู้จักในตลาด ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งเป็นรูปแบบเครือข่าย (คลัสเตอร์) จัดรูปแบบระบบห่วงโซ่การผลิตโคเนื้อ (Supply Chain) เป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงโคต้นน้ำ (แม่โคผลิตลูก) โคกลางน้ำ (ขุนลูกโคจากต้นน้ำ) โคปลายน้ำ (เลี้ยงโคขุน) พัฒนาการผลิตและการแปรรูปต่างๆ ตามความต้องการของตลาดได้ รวมทั้งพัฒนาผู้ประสานงานคลัสเตอร์ให้มีความต่อเนื่อง ลดปัญหาและอุปสรรคในห่วงโซ่การผลิต ทำให้สามารถผลิตเนื้อคุณภาพออกจำหน่ายได้เพียงพอตามความต้องการของตลาด
ปัจจุบันมีกลุ่มสมาชิกเกษตรกรเลี้ยงโคขุนจากทุกภูมิภาค เช่น สหกรณ์โคขุนในเขตปฏิรูปปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร สหกรณ์ นิคมลานสัก อุทัยธานี วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อไทยแบล็ค จ.โคราช สหกรณ์โคเนื้อพัทลุง สหกรณ์ ตากบีฟ จ.ตาก สหกรณ์โคเนื้อคุณภาพดี จ.แพร่ เพื่อนำเนื้อโคขุนคุณภาพดี ส่งไปจำหน่ายยังซุปเปอร์มาร์เกตชื่อดังในประเทศ ได้แก่ Makro Tops supermarket เดอะมอลล์งามวงศ์วาน และร้านอาหาร ร้านสเต็กระดับ premium ทั่วประเทศ และร้านค้าในเครือ Max Beef ซึ่งเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงในปัจจุบัน ได้แก่ ร้าน Maxbeef ร้านตั้งอยู่ บิ๊กซีราชดำริ ชั้น 4 และโลตัสระยอง/Buffet Maxbeef Burger ร้านตั้ง อยู่ ม.เกษตรศาสตร์บางเขน เป็นต้น
"ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จ ในการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการโครงการกองทุน FTA ที่ได้รับจากการศึกษาวิจัย และฝึกอบรม รวมถึงการพัฒนาต้นแบบในการสร้างเครือข่ายคลัสเตอร์และการพัฒนาตลาดร้านขายปลีก มาต่อยอดพัฒนาสร้างรายได้และความยั่งยืนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคเนื้อไทย" นายสิทธิพรกล่าว
นายกฤษฎา เตี้ยงสูงเนิน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อไทยแบล็คโคราช กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าเนื้อโคของไทยยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและต่อยอด อาทิ ความรู้ในการปรับปรุงมาตรฐานที่ยอมรับในตลาดสากลเพื่อการส่งออกในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเนื้อโคเกรดพรีเมียม ตอบสนองผู้ที่นิยมบริโภคเนื้อโค และมีตลาดรองรับ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไปได้
ที่ผ่านมา โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการค้าต่างประเทศ ได้ให้ความช่วยเหลือโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโคเนื้อ จำนวน 5 โครงการ มีจำนวนกลุ่มสหกรณ์และสมาคมที่มาขอรับความช่วยเหลือจำนวน 6 กลุ่ม เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเนื้อโคที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ เช่น ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ และเขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นต้น
โดยกองทุน FTA ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยแบบครบวงจร ตั้งแต่สร้างต้นแบบการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเนื้อโคไทย การรวมกลุ่มสร้างคลัสเตอร์เกษตรกรผู้เลี้ยงโค ระบบการสืบย้อนกลับ พัฒนาระบบการบริหารจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GAP การพัฒนามาตรฐานโรงฆ่าและโรงชำแหละแปรรสภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP และฮาลาล พัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการในเรื่องจัดการซาก พัฒนาผลิตภัณฑ์และแปรรูปตามความต้องการตลาด และพัฒนาและส่งเสริมช่องทางการตลาด พัฒนาต้นแบบรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น