นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาและปาฐกถาในงาน "The 1st Conference on Open Innovation Environment for SMART LIFE : 2018" ว่า กระทรวงดีอี ได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เอื้ออำนวยให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนด้านดิจิทัลได้อย่างสะดวก ผ่านการขับเคลื่อนกฎหมายดิจิทัล 6 ฉบับ ซึ่งกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ร่าง พ.ร.บ.ดิจิทัล ไอดี และร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลแห่งประเทศไทย
โดยในส่วนของ ร่างพ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และร่าง พ.ร.บ.สำนักงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้เข้าชี้แจงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ววันนี้ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ดิจิทัล ไอดี คาดว่าจะสามารถเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ได้ภายในเดือน ม.ค.62
"ขณะนี้รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้สนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐ สร้างสรรค์นวัตกรรม และจัดทำฐานข้อมูลภาครัฐ เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานราชการปรับปรุงการให้บริการแก่ภาคประชาชน"
นายพิเชฐ กล่าวว่า เมื่อหน่วยงานภาครัฐได้จัดทำฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานแล้ว จะนำไปสู่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนที่สามารถแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย One Stop Service ของรัฐบาล ลดการใช้กระดาษของหน่วยงานภาครัฐ
"เมื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐแล้วนั้น ใช่ว่าจะเป็นประโยชน์แค่หน่วยงานที่ต้องการใช้ข้อมูล แต่จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งนี้ หน่วยงานราชการต้องทราบว่าข้อมูลมี 3 แบบ ได้แก่ 1.ข้อมูลเปิด ไม่เป็นความลับ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ควรเผยแพร่ เพื่อให้หน่วยงานอื่นนำไปใช้ประโยชน์ได้ 2.ข้อมูลที่ต้องรักษาความเป็นส่วนตัว ซึ่งต้องศึกษาข้อกำหนดทางกฎหมายก่อน และ3.ข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคง จะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้" นายพิเชฐ กล่าว