นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยในการจัดสัมมนาและแถลงผลการดำเนินงานในโครงการบริหารศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2561 วันนี้ (21ธ.ค.) ว่า ปี 2561 พพ. ได้ดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการพลังงานอย่างคุ้มค่าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการอนุรักษ์พลังงานในอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Building Energy Code : BEC) ซึ่งจะขยายขอบเขตการดำเนินงานในปี 2562 มากขึ้นโดยเฉพาะการนำร่องบังคับใช้ BEC กับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ 1) สำนักงาน 2) โรงแรม 3) โรงพยาบาล 4) ศูนย์การค้า 5) โรงมหรสพ 6) สถานบริการ 7) อาคารชุมนุมคน 8) อาคารชุด และ 9) สถานศึกษา ซึ่งจะนำร่องอาคารที่พื้นที่ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
สำหรับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในแนวทางการส่งเสริมการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานให้สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตลอดปี 2561 อาทิเช่น การผลักดันนำร่องเพื่อให้เกิดการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐาน การจัดงานมอบฉลากรับรองมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวนรวมทั้งสิ้น 114 แบบอาคาร (ปี 2561 จำนวน 18 อาคาร)
การขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย ประกอบด้วยหน่วยงานท้องถิ่น จำนวน 9 แห่ง สถาบันการศึกษา จำนวน 11 แห่ง และภาคเอกชน จำนวน 7 แห่ง รวมถึงการฝึกอบรมในเรื่องการตรวจประเมินการใช้พลังงานของอาคารที่ออกแบบก่อสร้างใหม่ให้กับสถาปนิก วิศวกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวนมากกว่า 2,500 คน และการบริการตรวจประเมินและรับรองแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีจำนวนรวมกว่า 700 แบบอาคาร (ปี 2561 จำนวน 120 อาคาร)
"นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวของ ทุกภาค ส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และประชาชน ที่เห็นถึงความสำคัญด้านการอนุรักษ์พลังงานซึ่งจะเห็นจากการที่ประชาชนและธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งพพ.ยังคงเดินหน้ารณรงค์และการส่งเสริมให้เกิดการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยายมาตรการบังคับพื้นที่ของอาคารอนุรักษ์พลังงานตามเกณฑ์มาตรฐาน BEC เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนการอนุรักษ์พลังงานของประเทศหรือ EEP "นายยงยุทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับสำหรับกฏกระทรวงเกี่ยวกับมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ BEC ที่จะนำร่องบังคับใช้กับอาคารตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปในปี 2562 พพ.ได้มีการเตรียมพร้อมด้านบุคคลากรทั้งการให้ความรู้สถาปนิก วิศวกรผู้ออกแบบอาคาร รวมไปถึงการผลิตบุคคลากรวิชาชีพออกแบบรองรับ โดยจะร่วมมือกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป้าหมายระยะยาวของ BEC ที่จะทยอยบังคับใช้กับอาคารพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม. ภายในปี 2563
"คาดว่ากฎหมายดังกล่าวนี้จะเป็นกลไกการผลักดันการลดใช้พลังงานภายในประเทศเป็นตามเป้าหมายของ ผลประหยัดสะสม ที่จำนวน 1,166 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) หรือการลดใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ภายในปี 2579 ได้อย่างแน่นอน" นายยงยุทธ์กล่าว