น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "โลกเปลี่ยน เกษตรปรับ"ว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่จะมีผลต่อภาคเกษตรของไทยในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า มี 4 เรื่อง คือ 1.การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศสำคัญๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป จีน ที่เราส่งสินค้าเกษตรไปขายกำลังชะลอตัวลง กระทบต่อความต้องการ เช่น ยาง
อีกตัวที่เศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบคือราคาน้ำมัน ซึ่งปีหน้าประมาณการว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 61 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้ราคายางสังเคราะห์ถูกลงซึ่งก็จะกดดันให้ราคายางธรรมชาติลดลงด้วย
2. สงครามการค้า ซึ่งมีทั้งผลบวกและผลลบ ในแง่บวกคือสหรัฐฯและจีนจะเริ่มหาแหล่งซื้อใหม่ๆ อย่างกรณีสหรัฐฯ ที่น่าจะเป็นโอกาสของไทย คือ กุ้ง ทูน่า ส่วนจีน ข้าวสีแล้ว ส่วนราคาสินค้าเกษตรที่อาจจะลดลง เช่น ยาง ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
3. โลกที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและรวยขึ้น จะทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เราจำเป็นต้องศึกษาว่าลูกค้าต้องการสินค้าเกษตรแบบไหน เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวออร์แกนิค
4. เทคโนโลยีป่วนโลก เพราะเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยต่างประเทศมีการนำเซ็นเซอร์ติดรถแทรกเตอร์สำรวจคุณภาพดิน นำมาช่วยในเรื่องการวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จาก 4 เรื่องดังกล่าวส่งผลให้ภาคเกษตรของไทยจำเป็นต้องปรับใน 3 เรื่อง คือ 1.ต้องรู้เท่าทันข้อมูล ทั้งเรื่องผลผลิตในโลกและในประเทศ ราคาสินค้าเกษตรในโลก รวมทั้งการค้าในโลก 2.ต้องปรับรับความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภค เช่น อาหารออร์แกนิค สินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ ต่อยอดเป็นยาและวิตามิน สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสินค้าเกษตรที่ผลิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ 3.ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยี ถ้าไม่ทำก็จะถูกประเทศอื่นๆทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะฉะนั้นต้องกลับมาคิดว่าเราจะรวมกลุ่มกันได้หรือไม่ ภาครัฐจะช่วยทำวิจัยและนำไปให้เกษตรกรใช้ เช่น ใช้โดรนในไร่อ้อยเพื่อสำรวจดูว่าอ้อยตรงไหนต้องการน้ำ
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า การทำ Smart Farming มีความสำคัญมาก เพราะสิ่งสำคัญของภาคเกษตรคือความเสี่ยงและความไม่แน่นอน เช่น รู้หรือไม่ว่าปีหน้าจะมีภัยพิบัติอะไรเกิดขึ้น ซึ่งความไม่แน่นอนและความเสี่ยงถูกกำจัดได้ด้วยการเข้าถึงข้อมูลที่เร็ว เพราะฉะนั้นการได้มาซึ่งข้อมูล การประมวลข้อมูล ใช้เซ็นเซอร์ต่างๆ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล และตอบสนองต่อข้อมูลอย่างไร นั่นคือการตอบโจทย์ของ Smart Farming
"ตลาดสินค้าเกษตรไม่จำเป็นต้องเป็น Spot Rate อย่างเดียว การใช้เทคโนโลยีใช้กลไกของตลาดล่วงหน้าให้เป็นประโยชน์ ...การทำประกันภัยพืชผลการเกษตรมีความสำคัญ ภาคการเงินจะมีส่วนช่วยภาคเกษตรของไทยได้มหาศาล แต่พบว่าบริษัทประกันที่มีอยู่กลับไม่อยากรับทำ"
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า หนึ่งในเรื่องที่ EEC จะทำ คือ ทำแผนเกษตรสมัยใหม่ใน EEC จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ พร้อมจะชวนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาร่วมมือกันว่าจะเอาดิจิทัลเข้ามา เอาวิทยาศาสตร์ตัวไหนเข้ามาทำ และต้องเปลี่ยน Mindset เกษตรกรผ่าน สศก.
โดยใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีเรื่องของอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร โดยเทคโนโลยีกับสายธุรกิจฟาร์มถึงผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไปจากเดิมที่เริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์>เพาะปลูก>นำไปบริโภคและแปรรูป>การค้า>ผู้บริโภค เป็น ผู้บริโภคปรับตัวเร็ว ต้องการสินค้าตรงความต้องการและรวดเร็วจะย้อนกลับไปหาการเพาะปลูกและเมล็ดพันธุ์ สิ่งสำคัญคือสินค้าเกษตรต้องลดปัญหาการพึ่งพาราคาตลาดโลก ด้วยการผูกมือกับคนที่นำไปแปรรูป
นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การพัฒนาการเกษตรของประเทศภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมสถาบันการศึกษา และเกษตรกร เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้เกิดการปรับตัว เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทยในอนาคต ซึ่งจะทำให้ภาคเกษตรและเกษตรกรไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกได้อย่างเท่าทัน