นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการประเมินสภาวะเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดที่ปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่เติบโต 4.2% และปี 62 อยู่ที่ 4.0% เนื่องจากประเมินว่าในปีหน้ามีปัจจัยที่ไม่แน่นอนและเป็นความเสี่ยงหลายด้านต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยด้านต่างประเทศ ได้แก่ 1.ปัจจัยจากผลกระทบจากสงครามการค้า เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบเปิดและต้องพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยนี้ต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจน แต่มองว่ายังมีทั้งผลบวกและลบต่อประเทศไทย
2.ปัจจัยจากเศรษฐกิจประเทศจีน นอกจากจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว ยังมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายด้านภายในประเทศ และที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนพึ่งพิงหนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหนี้ภาคธุรกิจ ดังนั้น เมื่อภาวะการเงินเริ่มตึงตัวมากขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการ rollover ของภาคธุรกิจจีน และมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนได้
3.ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง เช่น กรณีการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit), ปัญหาในตะวันออกกลางที่กระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก และการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในยุโรปที่มีแนวโน้มกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับปีหน้าที่ ธปท.จะต้องติดตาม
"ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ สาเหตุที่เราคิดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ใกล้ 4% จึงเป็นระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย เพราะเราเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของปัจจัยในประเทศ การบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง การจ้างงาน การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง มีการนำเข้าสินค้าทุน การขอรับส่งเสริมจากคณะกรรมการสงเสริมการลงทุน (BOI)
อีกด้านเรามีการลงทุนโครงการใหญ่ของภาครัฐที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในปี 62 และจะทำให้เอกชนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาการลงทุนเรามีปัญหามาหลายปี ถ้าจุดเครื่องยนต์ตัวนี้ติดก็จะมีผลค่อนข้างมากต่อการขยายตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมทั้งนักธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าก็เริ่มขยายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่งไทยก็ได้รับผลบวกด้วย เหล่านี้ เราจึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวลงบ้างจากปี 61" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
นอกจากนี้ กนง.มองว่ากันชนด้านต่างประเทศของไทยยังค่อนข้างดีถ้าเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ที่ค่อนข้างเปราะบาง เมื่อตลาดเงินตลาดทุนโลกมีความหวั่นไหวก็จะได้รับผลกระทบง่าย ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายประเทศจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องและขึ้นในระดับที่สูง เพื่อป้องกันไม่ให้เงินไหลออก ในขณะที่ไทยเองที่ผ่านมาได้พยายามสร้างกันชนด้านต่างประเทศไว้อย่างมีเสถียรภาพ จึงสามารถรับแรงปะทะจากภายนอกได้ดีในระดับหนึ่ง
"แต่เราจะต้องไม่ชะล่าใจเพราะหลักสำคัญ ในโลกที่มีความผันผวนสูง การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการไม่ชะล่าใจ และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ไปพร้อมๆ กับการลดจุดเปราะบางต่างๆ ที่มีอยู่ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางการเงิน การรับความเสี่ยงที่อาจจะสูงเกินควร เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ธปท.เพิ่งออกมาตรการมาดูแล เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงในอนาคต"นายวิรไท กล่าว
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ซึ่งจะทำให้เป็นการเพิ่มภาระดอกเบี้ยแก่ประชาชนนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% ไปสู่ 1.75% ถือว่าเป็นการเริ่มปรับขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำมาก
การปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้เพราะเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใกล้กับการเติบโตที่เต็มศักยภาพมากขึ้น ความจำเป็นที่ต้องทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษจึงมีลดลง เพราะการทำนโยบายทุกอย่างมีผลข้างเคียงที่ต้องระมัดระวัง การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานานส่งผลให้เกิดความเปราะบางในเสถียรภาพระบบการเงิน และการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เป็นต้น
"การที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มทยอยปรับสูงขึ้น แม้จะปรับสูงขึ้นนิดเดียว อาจทำให้เกิดความกังวลว่าภาระหนี้ภาคประชาชนสูงขึ้นหรือไม่นั้น เราได้ประเมินสินเชื่อที่ภาคประชาชนกู้เงินแล้ว คิดว่าไม่ได้รับผลกระทบมาก หรืออาจไม่ได้รับผลกระทบเลยด้วยซ้ำ เพราะเรามาจากภาวะที่สภาพคล่องส่วนเกินมีสูงมาก จึงไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะไปปรับขึ้นดอกเบี้ยที่คิดกับประชาชน พวกดอกเบี้ย MLR, MOR, MRR จะเห็นว่าไม่มีการปรับ ซึ่งหลายแบงก์จะออกมาพูดว่าไม่มีความจำเป็นต้องรีบปรับ ในภาวะที่สภาพคล่องส่วนเกินมีสูงมาก ประกอบกับมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เมื่ออัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเหล่านี้ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น จึงไม่ได้สร้างภาระให้ประชาชนต้องผ่อนมากขึ้น และถ้าดูสินเชื่อที่ประชาชนไปกู้ เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วง 3 ปีแรก ถ้าอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไม่ได้ปรับ ก็จะไม่สร้างภาระให้เพิ่มมากขึ้น" นายวิรไท กล่าว
พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายอย่างได้คิดตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดไว้ เช่น อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต, อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าภาคประชาชนไม่ได้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามการทำนโยบายการเงินจะต้องดูแลในฝั่งผู้ออมด้วย เพราะหากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานจะทำให้ผู้ออมได้รับผลตอบแทนการออมที่ต่ำมาก ในสภาวะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การออมจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและต้องสร้างฐานการออมในประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก
"เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น สิ่งแรกคืออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเริ่มปรับขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นการออมผ่านกองทุนตราสารหนี้ กองทุนระยะสั้น ผู้ออมเงินจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นทันที นี่คือข้อดีของผู้ออม ขณะเดียวกันจะเห็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่บางแห่งเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์สำหรับภาคประชาชนที่เป็นผู้ออมเงิน เราต้องดูแลทั้งสองด้าน การปรับขึ้น (ดอกเบี้ยนโยบาย) เราไม่คิดว่าจะมีผลกระทบกับประชาชนผู้กู้เงิน แต่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ฝากเงินมากกว่า" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
นายวิรไท ย้ำว่าในการตัดสินนโยบายการเงินทุกครั้ง กนง.จะยึดหลักการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างละเอียด ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทุกครั้งที่จะมีการประชุม กนง.ในรอบต่อๆ ไป เนื่องจากสภาวะในขณะนี้ต่างจากรอบก่อนๆ ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะรอบก่อนๆ เป็นการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งก็มีเหตุผลและความจำเป็นจากสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น แต่ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกประเทศและอาจอยู่เหนือการควบคุม ดังนั้น การที่ กนง.ใช้ในการตัดสินนโยบายการเงินคือต้องประเมินภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มต่าง ๆ อย่างละเอียดทุกครั้ง และใช้การตัดสินใจแบบ data dependent เป็นสำคัญ
"ทุกนโยบายมีต้นทุน มีข้อดี ข้อเสีย การทำนโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนักวัตถุประสงค์ต่างๆ ชั่งน้ำหนักผลระยะสั้น ระยะยาวด้วย หน้าที่หนึ่งของ ธปท.คือรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมองระยะยาว มองข้ามวัฎจักรเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ"นายวิรไท กล่าว
พร้อมระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 1.25% ซึ่งช่วงนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยติดลบ แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง แต่จนเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลังจากเกิดปัญหาการเมืองในประเทศ ไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศ จึงทำให้ไม่มีงบประมาณ ส่งผลให้มาตรการทางการคลังหยุดชะงัก กนง.ในขณะนั้นมองว่ามีความจำเป็นที่ต้องเข้าไปช่วยดูแลเศรษฐกิจในช่วงสั้น จึงตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.50% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศในขณะนั้นอยู่ที่เพียง 0.8%
"ในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาก นโยบายอื่นไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เพราะมีปัญหาทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ตอนนี้ GDP ขยายตัวได้ใกล้ 4% ในปีที่แล้ว และปีนี้คาดว่าจะได้ 4.2% ปีหน้าคิดว่าอยู่ประมาณ 4% อาจบวกลบเล็กน้อยขึ้นกับเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังขยายตัวในระดับใกล้ศักยภาพ ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงไม่ควรกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่จะสอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว