ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ประเมินสถานการณ์ทางการค้าของตลาดใหม่ (New Frontiers) 5 แห่งที่ผู้ประกอบการไทยยังเข้าไปดำเนินธุรกิจหรือยังรู้จักไม่มากนัก ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์แห่งโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทยทั้งในมิติการค้าและการลงทุน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเศรษฐกิจ กลยุทธ์การแข่งขันทางธุรกิจ เทคโนโลยี นวัตกรรม และพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลให้ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม New Frontiers มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากอดีต โดยตลาด New Frontiers ที่น่าสนใจดังกล่าว ประกอบด้วย
1. จีน กับ Made in China 2025 ที่ผ่านมาสินค้าที่ผลิตจากจีนมักมีภาพลักษณ์ว่าเป็นสินค้าราคาถูก ผลิตเป็นจำนวนมาก และคุณภาพไม่สูง แต่หลังจากรัฐบาลจีนประกาศใช้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ปี 2559-2564) ก็เปลี่ยนโฉมหน้าภาคการผลิตของจีนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ภายใต้แนวคิดการผลิตสินค้าคุณภาพสูง ใช้นวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างแบรนด์ และการพัฒนาบุคลากร โดยรัฐบาลจีนกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ หุ่นยนต์ อากาศยาน ต่อเรือ ผลิตรถไฟ รถยนต์พลังงานใหม่ อุปกรณ์สร้างพลังงาน วัสดุศาสตร์ ยาและเวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีการเกษตร ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของสินค้าจีนในแนวทางดังกล่าวชัดเจนขึ้น โดยสินค้าไฮเทคของจีนเริ่มเป็นที่ยอมรับและทำตลาดในระดับสากลมากขึ้น เช่น ระบบการสื่อสาร (Huawei) ตลาดออนไลน์ (Alibaba) รถไฟความเร็วสูง (CRRC) เป็นต้น
2. อินเดีย กับการเติบโตก้าวกระโดดของเมืองรอง อินเดียมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ประกอบด้วย 29 รัฐ และ 7 ดินแดนสหภาพ ตลอดจนจำนวนประชากรที่มากถึงกว่า 1,300 ล้านคน ทำให้มีเมืองขนาดใหญ่หลายแห่ง ในจำนวนนี้เมืองที่ถูกเรียกว่า Tier 1 (มีจำนวนประชากรมากกว่า 4 ล้านคน) ได้แก่ กรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ เมืองกัลกัตต้า เมืองเจนไน เมืองบังกาลอร์ เมืองอาห์เมดาบัด เมืองไฮเดอราบัด และเมืองปูเน่ ที่ผ่านมาเมือง Tier 1 ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของบริษัทต่างชาติที่สนใจจะเข้าไปทำธุรกิจในอินเดีย อย่างไรก็ตาม หลังการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกของนายกรัฐมนตรี Modi ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Make in India, Smart City, GST Reform รวมถึงการสนับสนุนให้แต่ละรัฐแข่งขันกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้เมืองรองต่างๆ เติบโตและยกระดับขึ้นมาโดดเด่นไม่แพ้เมืองในกลุ่ม Tier 1 และหลายเมืองมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงแบบก้าวกระโดด เช่น เมืองสุรัต เมืองวิสาขปัทนัม เมืองกูรกอน เมืองไจย์ปูร์ เมืองลักนาว เมืองกันปูร์ เมืองนักปูร์ เป็นต้น ปัจจุบันบริษัทต่างชาติหลายแห่งเข้าไปตั้งฐานการผลิตและสำนักงานในเมืองเหล่านี้แล้ว
3. ตะวันออกกลาง กับ Non-oil Economy ความผันผวนและการลดลงอย่างฮวบฮาบของราคาน้ำมันในช่วงปี 2557-2559 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่หลายประเทศพึ่งพาการส่งออกน้ำมันสูงถึงเกือบ 50% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหลายประเทศในตะวันออกกลางประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่ลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน แล้วหันมาสร้างรายได้จากสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ แทน เช่น ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง/ปลาย การท่องเที่ยว กีฬา การเงิน และสายการบิน โดยประเทศที่ประกาศใช้นโยบาย Non-oil Economy ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งเป้าให้รายได้จาก Non-oil แตะระดับ 80% ของ GDP ภายในปี 2564 กาตาร์ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับที่ 2 (ปี2561-2565) ให้ Non-oil เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นต้น
4. แอฟริกา กับ Green Business แม้ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงมีรายได้ไม่สูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่หลายประเทศในแอฟริกากลับให้ความสำคัญและเข้มงวดกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบการดำเนินธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการห้ามผลิต นำเข้า และใช้ถุงพลาสติก เช่น เคนยา กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนเป็นปรับ 2,000,000 KES หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี และรวันดา ปรับ 100,000-500,000 RWF หรือจำคุก 6-12 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้ มอริเชียส ยังริเริ่มใช้นโยบาย Feebate Tax ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยรัฐจะเรียกเก็บภาษีจากผู้ซื้อรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าที่กำหนด และจ่ายเงินคืนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ทั้งนี้ คาดว่านโยบายหรือมาตรการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดจะเปลี่ยนโฉมหน้าของการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศของแอฟริกาในระยะถัดไป
5. แอฟริกา กับสังคมไร้เงินสด นวัตกรรมทางการเงินหรือ FinTech ได้เปลี่ยนโฉมหน้าและรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินไปทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการเงินพัฒนาไปอย่างมาก จนประชาชนส่วนใหญ่หันมาใช้ระบบออนไลน์ในการทำธุรกรรมทางการเงินในสัดส่วนสูงมากจนเรียกได้ว่าเข้าใกล้สังคมไร้เงินสด เช่น สวีเดน สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส สหรัฐฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาที่ระบบการเงินยังพัฒนาไม่ดีนัก และขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ประชากรกลับใช้ Mobile Money, Mobile Payment และธุรกรรมออนไลน์ในสัดส่วนสูง เช่น เคนยา 75% ของประชากรรวม บอตสวานา 68% รวันดา 68% แทนซาเนีย 65% เป็นต้น (ข้อมูลผลสำรวจโดย FinScope) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตรงกันข้ามกับภาพรวมของผู้มีบัญชีธนาคารในแอฟริกาที่มีเพียง 30% ของประชากรรวม สะท้อนให้เห็นว่าข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบธนาคารกลับเป็นแรงกระตุ้นให้ระบบธุรกรรมการเงินออนไลน์เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
ฝ่ายวิจัยฯ กล่าวว่า ทิศทางการตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการดำเนินธุรกิจในตลาด New Frontiers ไปอย่างมาก และอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจหรือสนใจรุกตลาด New Frontiers อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผู้ประกอบการที่อยู่ในวงจร Supply Chain กับสินค้าจีนอาจต้องเริ่มวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสินค้าไฮเทคหรือนวัตกรรมของจีน ผู้ประกอบการที่สนใจจะรุกตลาดอินเดียอาจเริ่มหันมามองเมืองรองที่การแข่งขันยังไม่สูงนัก แต่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น ผู้ประกอบการจึงควรปรับมุมมองต่อทิศทางการตลาดของประเทศ New Frontiers โดยเร็วเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต