นอกจากนี้ จากการประชุมฯ ครั้งที่แล้วยังให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นในพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าวจำนวนมาก เพื่อให้จัดทำข้อมูลและส่งกลับมานำเสนอที่ประชุมครั้งหน้ากลางเดือน ม.ค.62 เพื่อให้การประชุมครั้งหน้ามีข้อมูลให้ครบถ้วนทั้งจากภาคกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และภาคอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และ จากภาคประชาชน โดยเฉพาะจากภาคเกษตรกรที่จะมีการนำเสนอข้อมูลปริมาณของมะพร้าวที่ผลิตได้ในประเทศเพื่อให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชพิจารณาเพื่อกำหนดมาตรการเปิดตลาดอีกครั้ง
ดังนั้น ในระยะนี้ประเทศไทยจะไม่มีการเปิดตลาดมะพร้าวภายใต้กรอบ WTO และ AFTA จนกว่าจะได้ข้อมูลจากเกษตรกรมาร่วมในการพิจารณา พร้อมทั้งกระทรวงเกษตรฯ ยังได้เสนอแนวความคิดเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมะพร้าวเพื่อควบคุม Demand และ Supply ปรมิณมะพร้าวในปีหน้าให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น คือ 1.แนวความคิดการซื้อมะพร้าวในประเทศให้หมดก่อน ซึ่งสัดส่วนนี้จะมีการพิจารณาร่วมกันอีกครั้งว่าจะเป็นมะพร้าวในประเทศและมะพร้าวนำเข้าอย่างไร
2.การนำมาตรการ Special Safequard มาใช้กับมะพร้าว ซึ่งถือเป็นสินค้าเกษตรตัวแรกที่จะนำมาตรการนี้มาใช้ โดยภายใต้กรอบ WTO และ AFTA จะมีการกำหนดการนำเข้ามะพร้าวได้ โดยเฉพาะการนำเข้ามะพร้าวมาเพื่อการแปรรูปและทำการส่งออก ผู้ประกอบการสามารถขอเคลมภาษีได้
"ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีการกำหนดปริมาณนำเข้า โดยในปี 62 กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการเสนอว่าหากไม่มีการกำหนดปริมาณนำเข้าเลย และหากมีการนำเข้าเกินความต้องการจะกระทบต่อราคามะพร้าวในประเทศ เพราะฉะนั้นในปี 62 จะมีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ"นายลักษณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขย้อนหลัง 3 ปี (57-59) พบว่าปริมาณการนำเข้ามะพร้าวอยู่ที่ 156,000 ตัน ซึ่งหากหลักจากนี้ผู้ประกอบการนำเข้ามะพร้าวไม่เกิน 156,000 ตันก็สามารถเคลมภาษีได้ แต่กรณีนำเข้าเกิน 156,000 ตัน จะต้องเสียภาษีในอัตรา 72% จากเดิมที่จะเสียในอัตรา 54% กรอบระยะเวลาการดำเนินการ 3 ปี โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อประชุมและดูแลการบริหารจัดการในทุกปี
"มาตรการดังกล่าวจะทำให้ราคามะพร้าวมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว....ซึ่งปัจจุบันราคามะพร้าวก็ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 5-7 บาท/กก.เป็นผลจาก 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการรับซื้อมะพร้าวในประเทศให้หมดก่อน ซึ่งจากปี 60 ที่ปริมาณมะพร้าวน้อยมากผู้ประกอบการจึงขอให้มีการอนุญาตการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศทำให้ต่อมาปริมาณมะพร้าวเกินความต้องการอยู่ 400,000 ตันถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาดูแลทำให้ปริมาณมะพร้าวมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการหันมาซื้อมะพร้าวในประเทศมากขึ้นทำให้ปริมาณมะพร้าวนำเข้าหายไปกว่าครึ่งหรือประมาณ 200,000 ตัน
รวมทั้งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงทำการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ามะพร้าวผลจากต่างประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการในการสกัดกั้นมะพร้าวผลได้ผลดีมาก เป็นส่วนในการลดปริมาณมะพร้าวนำเข้าได้มาก
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีมติเกี่ยวกับการเปิดตลาดเมล็ดถั่วเหลืองที่ปัจจุบันมีความต้องการใช้อยู่ที่ 3 ล้านตัน แต่ปริมาณผลผลิตในประเทศมีเพียง 40,000 ตันทำให้จำเป็นต้องมีการเปิดตลาดเพื่อการนำเข้า โดยในปี 61 มีผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นผู้นำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง 6 สมาคม 18 บริษัท ล่าสุดมีการอนุมัติผู้ประกอบการนำเข้ารายใหม่ได้อีก 2 บริษัท คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ้วงไท้เฮง กับ บริษัท เฮลโก โซลูชั่น จำกัด
พร้อมกันนี้ มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการทำสัญญาความร่วมมือในการรับซื้อผลผลิตในประเทศจากเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองซึ่งมีอยู่ประมาณ 29,000 รายให้หมดก่อน โดยได้กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำ ดังนี้ ถั่วเหลืองสำหรับสกัดน้ำมัน ราคา ณ ไร่นา อยู่ที่ 17.50 บาท/กก. ราคาหน้าโรงงาน อยู่ที่ 18.25 บาท/กก., ถั่วเหลืองสำหรับผลิตอาหารสัตว์ ราคา ณ ไร่นา อยู่ที่ 17.75 บาท/ก. ราคาหน้าโรงงาน อยู่ที่ 18.50 บาท/กก., ถั่วเหลืองสำหรับแปรรูปอาหาร ราคา ณ ไร่นา อยู่ที่ 19.75 บาท/กก. ราคาหน้าโรงงาน อยู่ที่ 20.50 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมฯ วันนี้นายสมคิดได้มีข้อสั่งการเรื่องให้ดูแลสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการแข่งขันและสินค้าที่ไม่มีศักยภาพ โดยสินค้าที่มีศักยภาพให้วางแผนรับมือปริมาณผลผลิตทุกรายสินค้า สนับสนุนให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและเร่งผลักดันการส่งออก ส่วนสินค้าที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันให้ปรับโครงสร้างการผลิตให้ผลผลิตน้อยลง
"แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสั่งการสำหรับสินค้าตัวไหนเป็นพิเศษเพียงแต่ให้กระทรวงเกษตรฯทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิดในการศึกษาข้อมูลพืชเกษตรเป็นรายประเภท"นายลักษณ์ กล่าว