นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า บริษัท Win Chain Supply Management ซึ่งเป็นบริษัทจัดซื้อในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ประเทศจีน ได้เดินทางมาเจรจาการค้ากับสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ 12 แห่งจากจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ประกอบด้วย สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จำกัด, สหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด, สหกรณ์การเกษตรบ้านน้ำเป็น จำกัด, สหกรณ์การเกษตรทุ่งควายกิน จำกัด, สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ระยอง จำกัด, สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด, สหกรณ์การเกษตรขลุง จำกัด, สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด, สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด, สหกรณ์การเกษตรบ่อไร่ จำกัด, สหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด จำกัด และสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตรจังหวัดตราด จำกัด จังหวัดตราด
โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเงื่อนไขทางการค้าและวางแผนส่งทุเรียนไทยไปจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ในประเทศจีน หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงร่วมกันระหว่างตัวแทนสหกรณ์กับบริษัท Win Chain Supply Management ไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค.61
ทั้งนี้ ตัวแทนของอาลีบาบาได้แจ้งความประสงค์ที่จะทำธุรกิจซื้อขายทุเรียนกับสหกรณ์โดยตรง คาดว่าสหกรณ์จะรวบรวมผลผลิตในฤดูกาลปีหน้าและส่งทุเรียนให้กับอาลีบาบา กรุ๊ป ได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.62 โดยทางจีนจะทดลองสั่งซื้อรอบแรก 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณ 20 ตัน ซึ่งก่อนการซื้อขายครั้งนี้ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายจะเจรจาในรายละเอียดเรื่องราคา ปริมาณทุเรียน และระยะเวลาในการส่งมอบสินค้ากันอีกครั้งหนึ่ง
ในระยะแรกของการซื้อขายทุเรียนระหว่างสหกรณ์ภาคตะวันออกกับบริษัท Win Chain Supply Management ต้องสร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจระหว่างกัน ทางอาลีบาบากรุ๊ปจึงได้แต่งตั้งบริษัท KAF ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านการส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนและมีโรงคัดคุณภาพตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี เป็นจุดรวบรวมทุเรียนจากสหกรณ์ในภาคตะวันออก และคัดแยกคุณภาพให้ได้มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งทุเรียนที่จะส่งไปตลาดประเทศจีนจะต้องมีปริมาณการสุกอยู่ที่ 80% และแบ่งเกรดเป็นระดับ A B C ซึ่งทุเรียนเกรด A ต้องมีขนาด 4 พลู น้ำหนัก 4-6 กก./ลูก เกรด B ขนาดไม่ถึง 4 พลู แต่ไม่ต่ำกว่า 3 พลู น้ำหนัก 2-6 กก./ลูก และเกรด C ขนาดไม่ถึง 3 พลู น้ำหนัก 2-6 กก./ลูก
"การตกลงทางการค้าร่วมกันระหว่างสหกรณ์กับอาลีบาบา กรุ๊ป คาดว่าจะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องการเชื่อมโยงให้สหกรณ์ชาวสวนผลไม้ทำธุรกิจส่งออกผลไม้ให้กับทางอาลีบาบา กรุ๊ป เพื่อส่งเสริมให้สหกรณ์มีบทบาทในการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้นและมีตลาดที่ยั่งยืนในอนาคต และส่งผลต่อการยกระดับราคาผลผลิตให้กับสมาชิก สิ่งสำคัญคือเกษตรกรควรหันมาให้ความสำคัญในการผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพและผ่านการรับรองตามมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า ซึ่งสหกรณ์ในภาคตะวันออกส่วนใหญ่จะเน้นส่งเสริมสมาชิกรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตผลไม้คุณภาพตามมาตรฐาน GAP อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในฤดูกาลปี 62 ทุเรียนในภาคตะวันออกจะมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20%" นายเชิดชัย กล่าว