(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ย.61 ขยายตัว 0.98% คาดทั้งปี 3% หลัง 11 เดือนโต 2.99%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 25, 2018 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ย.61 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ 116.57 ขยายตัว 0.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-พ.ย.) MPI ขยายตัว 2.99%

ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน พ.ย.61 อยู่ที่ 69.37 ส่วนช่วง 11 เดือนแรก อยู่ที่ 68.61 จากปี 60 ที่อยู่ที่ 67.12

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ย. ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ขยายตัวจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่วนหนึ่งมาจากการออกรถยนต์รุ่นใหม่ การส่งเสริมการขายและสภาพเศรษฐกิจการซื้อรถ ส่งผลให้ยอดจองรถยนต์ในงาน Motor Expo ถึง 40,000 กว่าคัน, อุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งปีนี้เปิดหีบเร็วกว่าปีที่แล้วเป็นผลมาจากการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้นจากกำลังการผลิตของโรงงานต่างๆ และอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นผลสืบเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น ทำให้น้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์เติบโต

"ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่สูงสุดรอบ 66 เดือน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยมากขึ้นโดยในเดือนพ.ย.มีเข้ามาถึง 3.17 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5% โดยประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมากคือ อาเซียนขยายตัว 21% เข้ามาทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง"นายณัฐพล กล่าว

สำหรับปี 61 คาดว่า ดัชนี MPI จะขยายตัวที่ 3% จาก 2.52% ในปี 60 โดยในเดือนธ.ค.61 คาดว่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง, มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 4 มาตรการ

ส่วนปี 62 คาดกรอบ MPI น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3% สอดคล้องกับ GDP ภาคอุตสาหกรรม โดยปี 61 GDP ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.8%

ด้านนายณัฐพล กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญในปี 62 ได้แก่ การเลือกตั้งที่จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกที่คาดว่าจะปรับตัวได้ดี รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีผลต่อเนื่องจากปีนี และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ที่จะมีต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามได้แก่ ผลกระทบจากมาตรการสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ เพราะคาดเดาได้ยาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวจากปีนี้, เสถียรภาพการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา อย่างตุรกี บราซิล อเมริกาใต้ยังมีความเปราะบาง รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก ยังไม่มีเสถียรภาพว่าจะไปทิศทางไหน

ส่วนเรื่อง Shut Down หน่วยงานราชการบางส่วนของสหรัฐฯและร่างงบประมาณของสหรัฐฯ นายณัฐพล กล่าวว่า คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

นายณัฐพล กล่าวว่า อุตสาหกรรมในปี 62 ที่คาดว่ามีอัตราการใช้กำลังการผลิตค่อนข้างสูง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมโรงกลั่นและเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมแปรรูปปศุสัตว์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ