นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ 1.กำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นมิให้นำบทบัญญัติเรื่องทุนจดทะเบียนซึ่งต้องเป็นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดของทุนทั้งหมด และอำนาจการบริหารกิจการซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย มาใช้บังคับแก่คุณสมบัติและลักษณะของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานและผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่งสำหรับอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไป ทั้งนี้ จะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาของการยกเว้นไว้ด้วยก็ได้
2.เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเพื่อให้ผู้ผลิตอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ทำการผลิตต่อไปได้ แต่ต้องยื่นคำขอต่อผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ผู้อำนวยการฯ พิจารณาและมีคำสั่งภายในเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
3. เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับให้ใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลใช้ได้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าใบรับรองนั้นจะสิ้นอายุ และให้ผู้ประกอบกิจการหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง สำหรับบำรุงรักษาอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไปอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งยังไม่ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง ให้ประกอบกิจการหน่วยซ่อมต่อไปได้ แต่ต้องยื่นคำขอรับใบรับรองต่อผู้อำนวยการภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้ประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าผู้อำนวยการจะแจ้งไม่รับรอง
"เป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมเพื่อปลดล็อคเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของต่างด้าวจากเดิมที่กำหนดให้มีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการซ่อมอากาศยาน การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ถ้าไม่ปลดล็อคการจะให้ใบอนุญาตไม่ได้ แต่ผู้ที่จะยื่นขอใบอนุญาตเรื่องนี้ต้องได้รับบีโอไอก่อน" นายณัฐพร กล่าว
พร้อมกันนี้ ครม.ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ