นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 9.6% ต่อปี สูงสุดในรอบ 4 เดือน และการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 26.9% ต่อปี สำหรับด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศจากการส่งออกสินค้ามีสัญญาณทรงตัวเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาขยายตัวเป็นบวก
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ขยายตัวได้ดีที่ระดับ 12.8% ต่อปี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัว 9.6% ต่อปี ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือน และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัว 9.4% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ระดับ 67.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีปัจจัยลบจากราคาพืชผลทางการเกษตร จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลง สถานการณ์สงครามการค้า และการขยายตัวชะลอลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาสที่ 3
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดี จากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างส่งสัญญาณชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ที่ระดับ 26.9% ต่อปี เนื่องจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ขยายตัว 27.5% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวที่ 2.1% ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวที่ 5.4% ต่อปี ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 จากการขยายตัวตามการก่อสร้าง สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ระดับ 108.0 คิดเป็นการขยายตัว 1.3% ต่อปี จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น 3.3%
อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ากลับมาส่งสัญญาณชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่า 21.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาหดตัวที่ -0.95 ต่อปี อย่างไรก็ดี การส่งออกในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ CLMV ยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน ทั้งนี้ สินค้าที่สนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และทูน่ากระป๋อง เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 22.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2561 กลับมาขาดดุลจำนวน 1,178 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2561 หดตัวที่ -2.9% ต่อปี โดยหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดประมงที่ -3.3% และ -17.0% ตามลำดับ ขณะที่หมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 66 เดือน โดยค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั้งขนาดย่อม กลาง และขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าชดเชยวันทำงานน้อยกว่าปกติในเดือนธันวาคม และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ แฟชั่น อาหาร กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการปรับลดของราคาน้ำมันส่งผลดีทำให้ต้นทุนการประกอบการลดต่ำลง
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีจำนวน 3.18 ล้านคน กลับมาขยายตัว 4.5% ต่อปี จากการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ที่ขยายตัวในระดับสูง 44.6% ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 41 เดือน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวอินเดียและฮ่องกง เป็นต้น ทั้งนี้ ส่งผลทำให้เดือนพฤศจิกายน 2561 มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศ มูลค่า 167,418 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่อง 5.18% ต่อปี
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 0.9% ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.7% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.7 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2561 ทรงตัวอยู่ที่ 41.7% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ระดับ 203.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.2 เท่า
นายพิสิทธิ์ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2561 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการบริโภค และการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2561 ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมทบทวนประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2561 ใหม่อีกครั้งในเดือน ม.ค. 2562 จากปัจจุบันคาดการณ์อยู่ที่ 4.5%
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2561 ขยายตัวที่ 4.9%, ไตรมาส 2/2561 ขยายตัว 4.6% และไตรมาส 3/2561 ขยายตัว 3.3% พร้อมทั้งปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 2561 ลงเหลือ 4.2% โดยในส่วนของกระทรวงการคลังยังต้องประเมินตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค. นี้อีกครั้ง ก่อนพิจารณาปรับประมาณการณ์จีดีพี
"ยังต้องติดตามภาพรวมเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค.61 อีกครั้ง ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในเดือนนี้ คือการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก ส่วนเท่าที่ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า พบว่าปัจจัยภายในประเทศยังเติบโตสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี" นายพิสิทธิ์ กล่าว
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น เบื้องต้นมองว่าในระยะสั้นจะไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ เพราะการขับเคลื่อนนโยบายการเงินจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อส่งผ่านผลของมาตรการสู่ระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งปัจจุบันไทยยังมีสภาพคล่องในระบบสูง รวมถึงนโยบายการคลังยังทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี