พาณิชย์ เคาะดึงค่ายา-เวชภัณฑ์-ค่าบริการทางการแพทย์เข้าบัญชีสินค้าและบริการควบคุม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 26, 2018 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบริษัทประกันชีวิต เพื่อหาแนวทางกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนที่สูงมากว่า จากการหารือร่วมกันในเบื้องต้น ได้ข้อสรุปถึงมาตรการระยะสั้นที่จะนำบริการทางการแพทย์เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายกำหนดราคาเพดานส่วนต่างของราคายากับต้นทุนว่าควรบวกเพิ่มขึ้นไม่เกินกี่เท่าของต้นทุน รวมถึงการดูแลค่ารักษาบริการฉุกเฉินที่จะต้องผลักดันให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาในอัตราที่เป็นธรรม

"หลังจากนี้ ที่ประชุมจะนำแนวทางที่ได้ให้ไว้ ไปหาข้อสรุปร่วมกัน และนำกลับมาเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ช่วงต้นเดือนม.ค.62" นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะเสนอให้นำรายการยาและเวชภัณฑ์ และค่าบริการ เช่น ค่าห้องพักฟื้น ค่าอาหาร ค่าเอ็กซ์เรย์ เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม โดยจะนำเสนอที่ประชุม กกร.ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธานในวันที่ 9 ม.ค.62 ส่วนมาตรการที่จะนำมาใช้กับยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงค่าบริการนั้น จะเป็นการกำหนดราคาเพดานส่วนต่างของกำไรที่จะบวกเพิ่มจากต้นทุนยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงค่าบริการว่าได้กี่เท่า ไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคจนเกินไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ข้อสรุปที่จะเข้าไปดูแลค่ารักษาบริการฉุกเฉิน แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับสิทธิพิเศษภายใน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน แต่หลังจากผ่าน 72 ชั่วโมง หรือหลังจาก 3 วัน โรงพยาบาลจะคิดค่าบริการ ดังนั้นจึงต้องกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมไม่ให้เป็นภาระที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ในการประชุม กกร. จะเสนอให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน บริษัทประกันชีวิต กระทรวงพาณิชย์ ขึ้นมาพิจารณาแนวทางในการดูแล ทั้งค่ายาและเวชภัณฑ์ และค่าบริการ รวมถึงบริการฉุกเฉินในระยะยาวด้วย

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มาตรการกำหนดราคาเพดานกำไรที่จะใช้บวกจากต้นทุนราคายาและเวชภัณฑ์นั้น มูลนิธิฯ เห็นด้วย เพราะเป็นข้อเสนอแนะที่ได้ให้ไว้ การกำกับดูแลค่ารักษาพยายาลแบบฉุกเฉินหลังผ่านพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้ว ต้องการให้ทางโรงพยาบาลเอกชนกำหนดเป็นราคาเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเคสสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง จนกว่าจะออกจากโรงพยาบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ