จากปัญหาราคายางที่กำลังตกต่ำ ทำให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือ ผ่านมาตรการช็อปช่วยชาติ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างจากปีก่อน โดยจะลดหย่อนภาษีให้กับรายจ่ายที่ใช้ซื้อสินค้ายางล้อรถ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อยางในประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีคำถามเกิดขึ้นว่า มาตรการดังกล่าวจะตอบโจทย์ได้จริงหรือไม่ ด้วยระยะเวลาที่สั้นและจำกัด ประกอบกับมีผู้ผลิตยางยี่ห้อดังๆ หลายรายที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งที่สินค้ายางที่มีอยู่เป็นยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย และใช้น้ำยางพาราจากผู้ประกอบการภายในประเทศ หรือมีการรับซื้อน้ำยางพาราผ่านตัวแทนในประเทศที่รวบรวมจากเกษตรกรที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้สั่งซื้อผ่านการยางแห่งประเทศไทย จึงถือว่ายังไม่เข้าข่ายที่จะได้รับคูปองตามเงื่อนไข เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี
นอกจากนี้ มีบริษัทยางล้อบางบริษัทได้แจ้งว่าไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ เพราะการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบคือยางพาราต้องส่งตัวอย่างไปให้บริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศตรวจสอบและรับรองก่อน ซึ่งจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จึงทำให้เลยช่วงเวลาของโครงการช็อปช่วยชาติไปแล้ว
รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้จัดซื้อน้ำยางพาราในช่วงวันที่ 1 ธ.ค.2561 ซึ่งเป็นช่วง 15 วันก่อนวันเริ่มต้นมาตรการช็อปช่วยชาติ คือ 15 ธ.ค.61 แต่ผู้ผลิตซื้อน้ำยางเข้าสต็อกก่อนหน้านั้นแล้ว จนเกิดข้อสงสัยเรื่องการล็อคสเป็ค จนภาครัฐต้องรีบออกมาเคลียร์
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการ ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงกรณีมีบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ที่เป็นบริษัทต่างชาติหลายเจ้าสนใจเข้าร่วมโครงการ ว่า เนื่องจากบริษัทต่างชาติและที่มีสัญญารับซื้อยางระยะจากบริษัทเอกชนอยู่แล้ว ถ้าจะรับซื้อจากกยท. หรือ สถาบันเกษตรกร ต้องส่งตัวอย่างยางไปตรวจสอบคุณภาพที่ต่างประเทศก่อน เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน จะใช้เวลาหลายเดือน ไม่ทันระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขข้อตกลง ซึ่งแม้บริษัทต่างชาติดังกล่าวยืนยันว่าปกติก็รับซื้อยางจากเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผ่านบริษัทเอกชนอยู่แล้ว แต่จะให้ กยท.รับรองว่าเป็นยางจากเกษตรกรคงเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นยางจากเกษตรกร อาจเอาจากโกดังเก่าของบริษัทเอกชนมาใช้ก็ได้ ดังนั้น จึงเร่งเจรจาหาทางออกร่วมกัน
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท. ได้ชี้แจงว่า เงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมาไม่ใช่การล็อคสเป็คแต่อย่างใด แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมาตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปซื้อยางพาราในราคานำตลาดมาเก็บรักษาไว้ให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการเก็บรักษาด้วย
ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวนอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
"ยอมรับว่าโครงการมีจุดอ่อน อาจไม่ทั่วถึง เพราะเพิ่งทำปีแรก"รมว.เกษตรฯ กล่าว
ในส่วนของผู้บริโภค ส่วนใหญ่จะมียี่ห้อที่อยากจะเปลี่ยนอยู่ในใจจะเลือกอะไรระหว่างเข้าร่วมมาตรการช็อปยางช่วยชาติที่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อยางล้อจากผู้ผลิตที่ซื้อวัตถุดิบยางจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2562 สามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้สองปีภาษีตามที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี ซื้อปีไหนก็ใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เฉพาะปีนั้น แต่รวมกันสองปีภาษีแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และจะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานของการซื้อวัตถุดิบยางจากการยางแห่งประเทศไทย คือ คูปองลดหย่อนภาษีที่จัดสรรให้กับบริษัทผู้ผลิตยางล้อ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เฉพาะค่ายางใหม่เท่านั้น ไม่รวมค่าบริการเปลี่ยนล้อ ค่าซ่อม หรือค่าบริการอื่นๆ
แต่อย่าลืมว่าผู้บริโภคยังมีทางเลือกคือเข้าร้านยางทั่วไป ร้านที่รู้จัก ร้านที่เป็นลูกค้าประจำกันอยู่แล้ว หรือร้านดังที่มีโปรโมชั่นโดนๆ เช่น B-Quik มีโปรโมชั่นผ่อนยาง 0% นาน 10 เดือน หรือ ซื้อยาง 4 เส้น พร้อมประกันยางฟรี 1 ปี แล้วยังได้รับประกันอุบัติเหตุคุ้มครองสูงสุดกว่า 1 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2561
- COCKPIT เปลี่ยนยาง Bridgestone รุ่นที่กำหนดรับฟรีบัตรเติมน้ำมันสูงสุด 1,000 บาท แถมรุ่นยางที่ร่วมรายการยังได้ผ่อน 0% นาน 10 เดือน ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2561
- Auto Care & Tire หรือ a.c.t ระหว่าง 1-31 ธันวาคม 2561 มีโปรโมชั่นยางทุกยี่ห้อ ผ่อน 0% นานสูงสุด 10 เดือน พร้อมรับส่วนลดเทิร์นยางเก่าสูงสุด 800 บาท ผ่อนยางได้ 0% เมื่อซื้อยางรถยนต์ที่ร่วมรายการ 4 เส้นขึ้นไป พร้อมรับส่วนลดเทิร์นยางเก่าสูงสุด 800 บาท หรือ ผ่อน 0% นาน 10 เดือนสำหรับยางบริดจสโตนทุกรุ่น ทุกขนาด หรือ ผ่อน 0% นาน 6 เดือนสำหรับยางไฟร์สโตนและยางยี่ห้อชั้นนำอีกมากมาย
- มิชลิน จัดโปรโมชั่นพิเศษส่งท้ายปี เพียงซื้อยางมิชลิน 4 เส้น ภายในวันที่ 31 มกราคม 2562 รับฟรี บัตรของขวัญ มูลค่าสุงสุด 800 บาท ตามเงื่อนไข
ยังไม่รวมร้านยางเล็กๆ ตามตรอก ซอก ซอย ถนนหนทางที่ต่างก็มีกลยุทธ์ส่งเสริมการขายลด-แลก-แจก-แถมดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการแตกต่างกันไป
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยงาน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า มาตรการนี้ถือดีในแง่ของแนวคิดเพื่อให้ผู้ประกอบการช่วยกันซื้อยางในประเทศเพื่อดึงซัพพลายออกจากระบบ แต่เนื่องจากเป็นมาตรการที่คิดขึ้นมาใหม่ เงื่อนไขต่างๆ อาจจะไม่ชัดเจนทำให้ผู้ประกอบการบางรายได้รับสิทธิ์ ขณะที่บางรายไม่ได้รับสิทธิ์
"ปกติภาครัฐไม่ค่อยทำอะไรแหวกแนว มีแต่เรื่องเก่าๆ อันนี้ถือว่าแหวกแนว...แหวกแนวบ้างเป็นสิ่งที่ดีนะ แต่เนื่องจากเป็นมาตรการใหม่ทำให้รายละเอียดต่างๆ อาจจะไม่ครอบคลุม และถ้ามีแผนจะทำอีกในระยะต่อไปเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ต้องระบุระยะเวลาว่าจะทำอีกเมื่อไหร่ เพราะผู้บริโภคอาจจะชะลอการซื้อ แค่บอกว่า จะทำอีกแน่แต่เมื่อไหร่ไม่รู้ บริษัทยางอาจจะเริ่มปรับตัวหรือเตรียมตัวซื้อยางมาไว้ เพราะรอบนี้มีบางบริษัทไม่ได้รับสิทธิ์เลย"นายณัฐพล กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ส่วนมาตรการนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางได้หรือไม่นั้น มองว่าถ้ามาตรการนี้จบไปแต่ถ้าสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการว่ามาตรการนี้จะออกมาอีกในอนาคต และมีความชัดเจนว่าจะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ผู้ประกอบการก็จะเริ่มปรับตัวและทยอยซื้อยางในประเทศไว้
"เสถียรภาพราคายางน่าจะเกิดจากบริษัทยางได้ภาษีตรงๆ ดังนั้น อย่างที่บอกถ้ามาตรการนี้จบไป แต่ทำให้ผู้ประกอบการเชื่อว่าในอนาคตจะมีมาตรการออกมาอีกแต่ตอนไหนไม่รู้ หรืออย่าไปบอก ให้ผู้ประกอบการปรับตัวไปเรื่อยๆ โดยที่เรายังไม่ได้ออกเป็นตัวมาตรการ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือการยางแห่งประเทศไทย ต้องช่วยกันวาดเงื่อนไขออกมาว่าคืออะไรเพื่อให้ปลายทางราคายางมีเสถียรภาพ กลไกการตลาดของการซื้อยางในประเทศ"
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับผู้ประกอบการที่ขอให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการช็อปช่วยชาติต่อไปอีก 3-6 เดือน เนื่องจากภาคเอกชนได้รับประโยชน์จากยอดการสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้น โดยขยายระยะเวลาไปถึงช่วงเทศกาลสำคัญ และเพิ่มรายการสินค้าจากยางพาราให้หลากหลาย ซึ่งเตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านนักเศรษฐศาสตร์...รายหนึ่ง กล่าวว่า เป็นมาตรการที่ดีแต่เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าหลายยี่ห้อไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมี Brand Loyalty สูง มีตัวเลือกในใจ ยี่ห้อไหนที่เคยใช้แล้วดีก็จะใช้ยี่ห้อเดิมๆ เพราะมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก ถ้าจะให้เปลี่ยนมาใช้ยี่ห้อใหม่ๆ อาจจะต้องมีมาตรการส่งเสริมการขายที่จูงใจพอสมควร
อย่างไรก็ตาม มองว่า ในส่วนของผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของกิจการขนส่งที่มีรถในความดูแลจำนวนมาก ต้องมีการเปลี่ยนยางล้อจำนวนมากมาตรการนี้อาจจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็อาจจะไม่ 100% เช่นกัน
ดังนั้น มองว่ามาตรการช็อปยางช่วยชาตินี้อาจจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ใช่อย่างที่มีการคาดหวัง
"ผู้ผลิตยางทุกเจ้าก็ต้องบอกว่าสินค้าตัวเองมีคุณภาพดี แต่ลึกๆ แล้วผู้บริโภคทุกคนมีตัวเลือกในใจ มันจะยากที่จะทำให้ผู้บริโภคยอมรับในสินค้ายี่ห้อใหม่ๆ"นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วมาตรการนี้จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้มากน้อยเพียงใด