กรมการค้าต่างประเทศยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำเข้ามาทิ้งในไทย และช่วยป้องกันสิ่งแวดล้อม เตรียมนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ... ตามมติคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของเสียเคมีวัตถุ ลำดับที่ 2.18 ตามบัญชี 52 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ประเภทเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตัวเก็บประจุไฟฟ้า แบตเตอรี่ สวิทช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เป็นต้น เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
ทั้งนี้ กรมฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ www.dft.go.th ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าไม่มีผู้คัดค้านการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกรมฯ จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
"การออกมาตรการดังกล่าว เป็นการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทิ้งในประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ภายในประเทศอย่างถูกต้องและเหมาะสม"นายอดุลย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีร่างประกาศเรื่อง ขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว กรมฯ ยังมีแผนกำหนดมาตรการควบคุมขยะอื่นๆ อีก เช่น ขยะเทศบาล เศษพลาสติก ซึ่งจะทยอยออกมาตรการควบคุมการนำเข้าดังกล่าวอีกในอนาคต
สำหรับการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว เป็นไปตามมติของคณะคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เสนอแนะมาตรการและแนวทางการดำเนินการ ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งกำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินการของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการบูรณาการร่วมกันในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ หลังจากที่เดือนพฤษภาคม 2561 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจพบการลักลอบนำเข้าเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี และปทุมธานี ถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักร