รายงาน กนง.มอง ศก.โตต่อเนื่องชัดเจนแนวโน้มสอดคล้องศักยภาพ ระบุจะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปและอาจไม่ต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 2, 2019 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการเติบโตของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่กรรมการ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายผสมผสานกันทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential measures) จะช่วยให้การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เอื้อให้เกิดการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินต่อเนื่อง และเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะช่วยทยอยปรับสมดุลต่อพฤติกรรมการบริโภค การออม การกู้ยืม และการลงทุน รวมทั้งช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย

คณะกรรมการ กนง.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และสถาบันการเงิน รวมทั้งคำนึงถึงแนวนโยบายการคลังในระยะข้างหน้าที่อาจมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง

"คณะกรรมการฯ จะติดตามการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินภายใต้ภาวะที่สภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังอยู่ในระดับสูง เพิ่มเติมจากการที่อัตราผลตอบแทนในตลาดการเงินโดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นได้ทยอยปรับตัวไปก่อนหน้าแล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพโดยไม่กระทบต่อศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ"รายงาน กนง.ระบุ

ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ กนง.ได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงบ้างจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่การท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ทยอยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐเพิ่มเติม การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

กนง.ส่วนใหญ่เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอและมีแนวโน้มขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพ สามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ได้ โดยประเมินว่าการลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงเล็กน้อยจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป แต่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาจึงลดน้อยลงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน(policy space) สำหรับอนาคตเมื่อมีโอกาส ขณะที่กรรมการอีกส่วนหนึ่งเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันยังจำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อให้การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเข้มแข็งขึ้น และช่วยเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางผลกระทบของความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศ รวมถึงเพื่อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีการกระจายผลดีอย่างทั่วถึงมากขึ้น

2) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจ กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันได้เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีต่อเนื่อง

3) ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ และความเสี่ยงในระบบการเงินบางจุดได้รับการดูแลในระดับหนึ่งด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่าต้องติดตามพัฒนาการของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและการปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในช่วงก่อนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.62

นอกจากนี้ ควรต้องติดตามการสะสมความเปราะบางจุดอื่น ๆ ในระบบการเงินที่อาจสร้างความเปราะบางได้ในอนาคต อาทิ (1) พฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ทยอยปรับลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีแนวโน้มเร่งตัวต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อฐานเงินออมในอนาคต โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย

และ (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในอัตราสูง ทำให้สินทรัพย์ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่อง และเป็นแรงกดดันให้ต้องแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในระบบสหกรณ์มากขึ้นผ่านการให้กู้ยืมระหว่างกันนอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีการระดมทุนมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทั้งจากสินเชื่อและตราสารหนี้ เพื่อขยายการลงทุนทั้งในกิจการเดิมและกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก รวมถึงกิจการในต่างประเทศ จึงควรติดตามและประเมินความเสี่ยงใกล้ชิดมากขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยอาจไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องดังเช่นในอดีต ทั้งนี้ จะประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (data-dependent) ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

รายงาน กนง.ยังระบุว่า คณะกรรมการฯ ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลงบ้าง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นตามความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีและความเสี่ยงบางจุดได้รับการดูแลในระดับหนึ่งด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน อาทิ มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งร่างพ.ร.บ. สหกรณ์ที่แก้ไขเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบแล้ว

กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 61 และ 62 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามอุปสงค์ต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังมีแรงส่งต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.2% และ 4.0% ตามลำดับ ปรับลดลงจากที่ประเมินไว้ครั้งก่อนที่ 4.4% และ 4.2% ตามลำดับ โดยความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจยังโน้มไปด้านต่ำกว่ากรณีฐานมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ (1) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่อาจเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และ (2) ความผันผวนในตลาดการเงินโลกในกรณีที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit)

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ (1) การบริโภคภาคเอกชนที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากกำลังซื้อในประเทศที่ยังขยายตัวไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตรที่อาจลดลงมากกว่าคาด และ (2) การใช้จ่ายภาครัฐที่อาจต่ำกว่าคาดจากข้อจำกัดในการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐ

โดยคณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและปัจจัยที่อาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้โดยเห็นว่าแม้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง แต่ในภาพรวมยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ วัฏจักรของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในช่วงเริ่มขยายตัว และปัจจัยสนับสนุนรายได้ครัวเรือนยังมีต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าและบริการที่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ