นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 กรมฯ มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศอาเซียนนำระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ระบบ ASEAN Single Window (ASW) หรือ e-Form D ASW มาใช้ให้ครอบคลุมทุกประเทศอาเซียน หลังจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบการส่งข้อมูล e-Form D กับประเทศบรูไน และจะเริ่มทดสอบกับประเทศฟิลิปปินส์ และกัมพูชาในลำดับถัดไป ส่วนอีก 2 ประเทศที่เหลือ คือ สปป.ลาว และเมียนมา กรมฯ จะเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาระบบและหาทางเชื่อมต่อไป
"ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมฯ ได้ให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า e-Form D ด้วยระบบ Digital Signature แบบ 100% โดยผู้ประกอบการแค่ยื่นคำขอผ่านทางออนไลน์มาที่กรมฯ และกรมฯ ก็จะส่ง e-Form D ไปยังศุลกากรประเทศปลายทางเลย ซึ่งได้ทำการเชื่อมระบบกับสมาชิกนำร่อง 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ภายใต้ระบบ e-Form D ASW แล้ว และมีเป้าหมายจะผลักดันให้อาเซียนที่เหลือเร่งเชื่อมโยงระบบ เพราะหากเชื่อมโยงกันได้หมด จะทำให้การค้าขายในอาเซียนมีความคล่องตัว และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้เพิ่มขึ้น" นายอดุลย์ กล่าว
สำหรับปริมาณการออก e-Form D ASW ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 39,447 ฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 81.86% เทียบกับการออก e-Form D ทั้งหมด 48,190 ฉบับ
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เร่งปรับปรุงตารางพิกัดศุลกากรการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับ Form D ในระบบการให้บริการให้สอดคล้องกับตารางการลดภาษี (Tariff Reduction Schedules : TRSs) ที่ปรับปรุงจากตาราง HS 2012 เป็น HS 2017 สำหรับประเทศที่ได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการดำเนินพิธีการศุลกากร ณ ประเทศปลายทาง
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ยังจะผลักดันให้สมาชิกอาเซียนแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Operational Certification Procedure : OCP) ภายใต้โครงการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน หรือ ASEAN-Wide Self-Certification System (AWSC) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 เนื่องจากการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองในอาเซียนจะเป็นการสร้างกลไกการเคลื่อนย้ายผลผลิตภายในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเสรี ทำให้ช่วยประหยัดเวลาและลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งออก อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของอาเซียนที่ได้ตั้งไว้
ทั้งนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมการประกาศบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) ซึ่งเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีล่าสุดที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งคาดว่าจะใช้ในช่วงต้นปี 2562 เพื่อประกอบการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในกลุ่มประเทศภาคีด้วย
นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมจัดอบรมหลักสูตร "การคำนวณต้นทุนเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า" ในวันที่ 19 มกราคม 2562 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร วิธีการคำนวณถิ่นกำเนิดสินค้า และขั้นตอนการยื่นขอตรวจถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงวิธีการกรอกข้อมูลเพื่อขอตรวจคุณสมบัติทางด้านถิ่นกำเนิดสินค้าอีกด้วย