ครม.เห็นชอบปรับปรุงเกณฑ์การชำระเงิน-รายการสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิ ในมาตรการช็อปตรุษจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 2, 2019 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการชำระเงิน การรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดรายการสินค้าและบริการที่จะไม่ได้รับสิทธิ (Negative List) ของมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยสรุปสาระสำคัญ ในการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการชำระเงิน การรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดรายการสินค้าและบริการที่จะไม่ได้รับสิทธิ (Negative List) ของมาตรการฯ ดังนี้

1. คุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินชดเชย :

1.1 มีบัตรเดบิตที่ออกในประเทศไทย

1.2 ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ในช่วงเวลา ช่องทางและตามเงื่อนไขที่กำหนด

1.3 สมัครใช้บริการพร้อมเพย์ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนเพื่อรับเงินชดเชย

โดยแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินชดเชยเป็นดังนี้

1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย

2. เป็นผู้ใช้บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ อาทิ บัตรเดบิต

3. ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ในช่วงเวลา ช่องทาง และตามเงื่อนไขที่กำหนด

4. สมัครใช้บริการพร้อมเพย์ โดยเลขประจำตัวประชาชนเพื่อรับเงินชดเชย

2. วิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ :

เดิมผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินชดเชย เมื่อได้ชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการในช่วงเวลาที่กำหนดกับผู้ประกอบการร้านค้าที่มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยใช้บัตรเดบิตของตนเองทุกประเภทที่ออกในประเทศไทยและมีการใช้จ่ายในประเทศไทย (ไม่รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยตามมาตรการฯ

โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นดังนี้

ผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินชดเชยตามมาตรการฯ เมื่อชำระเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าที่มีคุณสมบัติครบถ้วน สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2562 ผ่านวิธีการดังต่อไปนี้

2.1 ชำระเงินโดยใช้บัตรเดบิตของตนเองซึ่งออกในประเทศไทย และ/หรือ

2.2 ชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ผู้ให้บริการได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการ การชำระเงินภายใต้การกำกับ อาทิ ชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Standard QR Code Payment)

ทั้งนี้ การชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ข้างต้น ไม่รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรเครดิต เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ นอกเหนือจากบัตรเดบิต

3. วิธีการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ :

เดิมคุณสมบัติผู้ประกอบการร้านค้า ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale: POS) ช่วยเก็บบันทึกการขาย รายละเอียดสินค้า คำนวณยอดขายและพิมพ์ใบกำกับภาษี โดยเชื่อมต่อกับเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าที่มีระบบ POS ต้องทำการปรับปรุงและทดสอบเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่นเดียวกับระบบที่ใช้ภายใต้มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ชำระ

โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมสำหรับวิธีการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นดังนี้

คุณสมบัติผู้ประกอบการร้านค้า ได้แก่

3.1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale: POS) ช่วยเก็บบันทึกการขาย ยอดขาย จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แยกออกจากราคาสินค้าและบริการ รายละเอียดสินค้า และพิมพ์ใบกำกับภาษี ซึ่งเชื่อมต่อกับเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) ที่ต้องรับและส่งข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละรายการที่รับชำระค่าสินค้าและบริการได้ และ/หรือ

3.2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบ POS ตามข้อ 3.1 ซึ่งเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับอื่น ๆ ที่ต้องการมีการรับและส่งข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละรายการที่รับชำระค่าสินค้าและบริการได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าที่จะเข้าร่วมมาตรการฯ ต้องลงทะเบียนกับกรมบัญชีกลาง พร้อมทั้ง ต้องทำการปรับปรุงและทดสอบระบบ POS เพื่อให้สามารถรับและส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่นเดียวกับระบบที่ใช้ภายใต้มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ชำระ เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มเติมวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 2

4. การชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการไม่รวมถึงสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต

โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยการกำหนดรายการสินค้าและบริการที่จะไม่ได้รับสิทธิ์ (Negative List): สินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต ได้แก่ 1. สุรา 2. ยาสูบ 3. น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 4. รถยนต์ และ 5. รถจักรยานยนต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ