น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยทิศทางสถานการณ์ข้าว ปี 2562 ว่า จากการจัดทำสรุปการวิเคราะห์ เรื่อง World Agricultural Production Supply and Demand Estimates และ Grain: World Markets and Trade ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2561 การศึกษาของสหรัฐอเมริกา โดยสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
สถานการณ์การผลิตข้าว ปีการผลิต 2561/62 ซึ่งคาดว่าโลก มีการผลิตข้าวทั้งหมด 490.7 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2560/61 ที่มีปริมาณการผลิต 494.31 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลง 0.7% ประเทศที่มีปริมาณผลผลิตสูงสุด ได้แก่ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ สำหรับไทย มีเนื้อที่เพาะปลูก 69.62 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิต 21.2 ล้านตันข้าวสาร ทั้งนี้ปริมาณเนื้อที่และผลผลิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า
สถานการณ์การตลาดข้าวโลก สต็อกต้นปีจะมีปริมาณ 160.71 ล้านตันข้าวสาร ปริมาณการนำเข้า 46.32 ล้านตันข้าวสาร การใช้ในประเทศ 488.39 ล้านตันข้าวสาร ปริมาณการส่งออก 48.91 ล้านตันข้าวสาร และสต็อกคงเหลือปลายปี 163.02 ล้านตันข้าวสาร และคาดว่าไทย จะมีปริมาณสต็อกต้นปี 2.99 ล้านตันข้าวสาร ปริมาณการนำเข้า 0.25 ล้านตันข้าวสาร การใช้ในประเทศ 10.2 ล้านตันข้าวสาร ปริมาณการส่งออก 11 ล้านตันข้าวสาร และสต็อกคงเหลือปลายปี 3.24 ล้านตันข้าวสาร
ปีการผลิตหน้า โลกจะมีปริมาณผลผลิตข้าวลดลง เนื่องจากคาดว่าจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีปริมาณผลผลิตข้าวสูงจะมีปริมาณผลผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม จีนยังคงมีสต็อกข้าวคงเหลือปลายปี สูงถึง 109 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งหากนำข้าวในสต็อกออกมาขายยังตลาดต่างประเทศก็จะเกิดผลกระทบกับการส่งออกข้าวของไทย โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มแอฟริกาและตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกข้าวนึ่งของไทย ในปัจจุบันผู้บริโภคสนใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ข้าวนึ่งเป็นหนึ่งในอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีวิตามินบีและวิตามินอีสูงกว่าข้าวขาว ไทยซึ่งมีศักยภาพสูงในการผลิตข้าวนึ่งจึงควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคในตลาดอื่นๆ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวนึ่งให้มีคุณภาพและราคาที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ข้อมูลการวิเคราะห์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ในปี 2561/62 สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 2 ของไทย มีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนด้วยข้าวจากประเทศคู่แข่งที่มีราคาต่ำกว่า ดังนั้น การเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาด้านราคาของประเทศคู่แข่ง เช่น การประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทย รวมทั้งการเน้นย้ำความแตกต่างของคุณภาพให้กับผู้บริโภคในระดับโลก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันดำเนินการ รวมทั้งการพิจารณานำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เช่น การนำบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในอาหารและแหล่งกำเนิดสินค้า การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร (traceability) ก็อาจเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยยกระดับมาตรฐาน และเพิ่มโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ส่งออกไทยในการส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศ
ปัจจุบัน อินเดีย และเวียดนาม คู่แข่งการส่งออกข้าวสำคัญของไทยในตลาดโลก ได้พัฒนาศักยภาพในการผลิตและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่หลากหลายและราคาที่ต่ำกว่าไทย แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกไทยก็ยังต้องพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและลดต้นทุนการผลิต เพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ไทยก็สามารถเพิ่ม/หาโอกาสการส่งออกข้าวที่มีราคาสูง สำหรับตลาด niche เช่น ข้าวอินทรีย์ และข้าวสีต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ภาครัฐควรใช้จุดแข็งของไทยในด้านการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร มาส่งเสริมการผลิต/พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่เพิ่มมูลค่าจากข้าว เช่น ครีม เครื่องสำอาง และอาหารเสริม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทยอย่างยั่งยืนด้วย
ในปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวทั้งในและต่างประเทศ ผ่านช่องทางการค้าปกติและช่องทาง E-commerce ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, โครงการ Rice Plus Award 2018 โดยกรมการค้าต่างประเทศ, การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวไทย โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินการติดตามข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตสินค้าข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายด้านการค้าให้สินค้าเกษตรไทย ให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ขยายช่องทางการส่งออก เพื่อยกระดับสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืนต่อไป