ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือนธ.ค. 61 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 79.4 จาก 80.5 ในเดือน พ.ย.61 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากความกังวลเรื่องสงครามการค้า และกรณีนักท่องเที่ยวจีนลดลง
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 66.3 จาก 67.5 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 74.6 จาก 75.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.3 จาก 98.4
สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเดือนนี้ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% และปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 61 และปี 62 , ภาคการส่งออกในเดือนพ.ย. 61 ลดลง 0.95%, ราคาพืชผลเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ, ความกังวลเรื่องสงครามการค้า, นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนน้อยลง และผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งช็อปช่วยชาติ เที่ยวเพื่อชาติ และเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งกรณีการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
อย่างไรก็ดี จากปัจจัยบวกที่เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรบางรายการที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, สงครามการค้าที่มีแนวโน้มคลี่คลายจากที่จะเริ่มมีการเจรจากันระหว่างสหรัฐฯ และจีน, รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA on Arrival และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ หากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สามารถคลี่คลายลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
"คาดว่าในไตรมาสแรกปีนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีสัญญาณปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยบวกที่เกิดขึ้น ยังเป็นปัจจัยบวกที่ไม่เด่นชัด ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ เป็นแรงกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง ปัญหานักท่องเที่ยวจีนแม้จะดีขึ้น แต่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ รวมทั้งกรณีสงครามการค้า เหล่านี้เป็นปัจจัยกดดันให้ความคึกคักไม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ประชาชนยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งยังปกคลุมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ด้วย" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปที่อาจจะไม่เป็นไปตามกำหนดเดิมในวันที่ 24 ก.พ.62 นั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากการเลือกตั้งที่จะเลื่อนออกไปยังอยู่ภายในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ว่าจะเลื่อนไปเป็นม.ค. หรือ เม.ย. มองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เพราะถ้าตราบใดที่การเลื่อนเลือกตั้งสามารถชี้แจงเหตุผลได้อย่างชัดเจน ก็เชื่อว่านานาชาติและนักลงทุนทั่วไปจะรับฟัง และเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิม
"การเลื่อนเลือกตั้งที่ยังอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ในเชิงของภาพลักษณ์ หรือความมั่นใจจากนานาชาติ และนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ก็ยังเชื่อว่าปีนี้เป็นปีแห่งการเลือกตั้งของไทย ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบในเชิงภาพลักษณ์ หรือไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะปานกลาง ถึงระยะยาว" นายธนวรรธน์ระบุ
อย่างไรก็ดี การเลื่อนเลือกตั้งอาจมีผลต่อช่วงเวลาในการรณรงค์หาเสียง รวมทั้งการใช้จ่ายเม็ดเงินลงไปในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น การทำป้ายหาเสียง ป้ายโฆษณา แผ่นพับ ใบปลิวต่างๆ ที่อาจจะต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเม็ดเงินในส่วนนี้และมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงเดือนม.ค. และ ก.พ. ซึ่งจะมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ในไตรมาสแรก จากที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังรอจังหวะคลายตัวจากปัญหาสงครามการค้า และ Brexit
"ถ้าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งต้องช้าออกไป เม็ดเงินจากการใช้จ่ายในช่วงหาเสียงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรก ก็อาจจะเป็นช่วงสูญญากาศ ตรงนี้ต้องรอดูว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเมื่อใด แต่เชื่อว่าคงเลื่อนไปไม่นาน อยู่ภายในปลายไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 ซึ่งก็ยังสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ และไม่น่าจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย...สรุปแล้วการเลื่อนเลือกตั้งไม่น่าจะมีผลกระทบในเชิงบวก และลบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก" นายธนวรรธน์ระบุ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 4.0-4.2% ส่วนการส่งออก เติบโตได้ 4-5% โดยอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ระดับ 32.00 - 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึกในพื้นที่ภาคใต้ของไทยนั้น นายธนวรรธน์ มองว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคใต้ในช่วงสั้นๆ ไม่ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นผลจากการหยุดให้บริการของสายการบินชั่วคราว และการเลื่อนการจองที่พัก โรงแรม รีสอร์ทต่างๆ โดยมองว่าผลกระทบจะอยู่ในช่วง 3-5 วัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3-5 พันล้านบาท
"อาจจะมีผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบิน โรงแรม ผลกระทบจากการใช้จ่ายประจำวัน การเดินทาง ท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะไม่เกิน 3-5 วัน เป็นผลกระทบระยะสั้น ไม่ยาวนานหรือบานปลายจนกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคใต้ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้" นายธนวรรธน์กล่าว