ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปจากธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้ เริ่มจากฝั่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพียงขาเดียว โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะ 3 เดือน, 6 เดือน, 12 เดือน, 24 เดือน และ 36 เดือน ถูกปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.25% ต่อปี ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่ง ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.18-1.85% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (อัตราดอกเบี้ย MLR MOR และ MRR) ยังคงไว้ที่ระดับเดิม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพียงขาเดียว แม้ว่าสภาพคล่องยังคงอยู่ในระดับสูงนั้น เป็นการสะท้อนถึงบทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการตอบรับต่อสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ตามมติของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา ขณะที่หากธนาคารอื่นๆ ทยอยขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามมาในลักษณะเดียวกัน ก็น่าจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดเงินฝากไม่ปรับเปลี่ยนไปจากภาพเดิมมากนัก ทั้งนี้ ประเมินว่าเงินฝากประจำสำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดไม่เกิน 5 ล้านบาท มียอดคงค้างอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะทยอยรับรู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในรอบนี้ โดยเฉพาะเงินฝากประจำ 3 เดือน ที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของยอดรวมเงินฝากประจำสำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ต้นทุนตั้งแต่ไตรมาส 2/2562 เป็นต้นไป ขณะที่ หากพิจารณาผลกระทบของดอกเบี้ยจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในรอบนี้ (สมมติให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกัน) จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.55% ของภาพรวมกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปีนี้
"ขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไปในรอบนี้ สอดคล้องกับขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ จะทยอยรับรู้ภาระดอกเบี้ยจ่ายเมื่อเวลาผ่านไป" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยขาเงินกู้เป็นการทั่วไปของธนาคารพาณิชย์ในช่วงหลังจากนี้นั้น คงจะตั้งอยู่บนเงื่อนไขของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความต้องการสินเชื่อ ความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และการประเมินผลกระทบที่ปรากฏขึ้นจริงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในรอบนี้
อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่าภาพรวมขนาดของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะขยับขึ้นในอนาคต คงจะน้อยกว่าขนาดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับขึ้น โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะเกิดขึ้นเพื่อชดเชยกับต้นทุนที่ทยอยเพิ่มขึ้น แต่ยังคงสอดคล้องกับสัญญาณเชิงนโยบายของผู้กำกับดูแลที่เน้นการเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม