นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบเงินช่วยเหลือชาวสวนยางภาคตะวันออก ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ณ ที่ว่าการอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรีว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามสถานการณ์การตลาด และราคายางอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำมาเป็นระยะ โดยรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ที่มุ่งหวังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในระยะเร่งด่วน ในช่วงที่ราคายางส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง และคนกรีดยางเพื่อสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรชาวสวนยาง และช่วยเหลือค่าครองชีพคนกรีดยาง อีกทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้สามารถร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพยาง และยกระดับราคาให้เป็นไปตามที่ทุกคนคาดหวัง
"การมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออก ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รายละ 1,800 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางในระยะเร่งด่วน โดยเงิน 1,800 บาท ดังกล่าว แบ่งเป็น 1,100 บาทให้แก่เจ้าของสวน และ 700 บาท สำหรับการจ้างแรงงาน ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้ทยอยมอบให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่ได้ลงทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย โดยสามารถไปติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานการยางฯ ของแต่ละจังหวัดที่ได้ลงทะเบียนไว้
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเร่งดำเนินโครงการสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ รวมทั้งสิ้น 80,000 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมทั้งสิ้นกว่า 9 แสน - 1 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้นยางมีอายุมากกว่า 25 ปี ได้สนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ตลาดมีความต้องการ อาทิ โกโก้ มะพร้าวน้ำหอม หรือปลูกพืชล้มลุกแซมสวนยาง เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงในอาชีพนอกเหนือการทำสวนยางเพียงอย่างเดียวด้วย"
นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังดำเนินโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนอาชีพ เพิ่มรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร และสร้างเสถียรภาพราคายางพาราทั้งระบบ อาทิ โครงการสนับสนุนทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบกิจการยางพารา หรือกลุ่มสหกรณ์ยางพารา การวางแนวทางในการพัฒนาภาคการเกษตร โดยเน้นการแก้ปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต การให้ความรู้กับเกษตรกรทำเกษตรรูปแบบใหม่ ตลอดจนการมุ่งเน้นด้านการตลาด ไม่ว่าจะเป็นผลผลิต หรือการจัดจำหน่าย ซึ่งต้องให้ตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเกษตรกรผู้ผลิต และภาคเอกชนผู้ค้า ทั้งนี้ เพื่อปฏิรูปภาคการเกษตรให้มีความมั่นคงสมกับที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศไทย
ด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ทั่วประเทศแล้ว กว่า 155.8 ล้านบาท โดยจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง แบ่งเป็น เจ้าของสวนยาง (1,100 บาท/ไร่) จำนวน 9,477 ราย เจ้าของสวนยางกรีดเอง (700 บาท/ไร่) จำนวน 7,787 ราย และคนกรีดยาง (700 บาท/ไร่) จำนวน 1,182 รายสำหรับเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และ ฉะเชิงเทรา กยท. ได้ส่งข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางให้ ธ.ก.ส. แล้ว จำนวน 2,102 ราย คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 21 ล้านบาท