พลังงาน เผยแหล่งผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยไม่เสียหายจากพายุ"ปาบึก" พร้อมกลับผลิตก๊าซฯเต็มที่พรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday January 6, 2019 09:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพลังงาน ออกแถลงการณ์ สถานการณ์พายุโซนร้อน "ปาบึก" ที่ส่งผลต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ฉบับที่ 4/2562 เมื่อช่วงดึกวานนี้ โดยระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ในส่วนของการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยถือว่าได้คลี่คลายแล้ว บริษัทผู้ประกอบกิจการพลังงานได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจอุปกรณ์บนทุกแท่นผลิตปิโตรเลียม และเร่งดำเนินการให้สามารถกลับมาผลิตปิโตรเลียมเพื่อรองรับการใช้ของประชาชน โดยด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ จากการเข้าตรวจสอบ พบว่าไม่มีอะไรเสียหาย สามารถกลับมาผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในวันที่ 6 มกราคม 2562 และจะสามารถผลิตได้อย่างเต็มที่ วันที่ 7 มกราคม 2562

ด้านไฟฟ้า ในส่วนของโรงไฟฟ้าไม่มีความเสียหายและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด จะได้เตรียมความพร้อมใน การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ร่วมกับรัฐบาล อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ขณะที่นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนรัชชประภา ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขื่อนบางลาง ในจังหวัดยะลา ปัจจุบันปริมาณน้ำยังอยู่ในระดับการควบคุม โดยเขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำ คิดเป็นร้อยละ 83.22 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 945.95 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำ คิดเป็นร้อยละ 75.63 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 354.36 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ม.ค. 62 เวลา 14.00 น.) ซึ่งปัจจุบันเขื่อนทั้งสองแห่ง ยังคงหยุดเดินเครื่อง เพื่อบรรเทาสถานการณ์ระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นบริเวณท้ายเขื่อน

ทั้งนี้ กฟผ. ขอส่งความห่วงใยและกำลังใจไปยังประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบภัยธรรมชาติในครั้งนี้ โดยเมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) กฟผ. ได้เข้าพื้นที่นำถุงยังชีพ 1,000 ชุด และน้ำดื่ม 6,000 ขวด ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชแล้ว พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ที่จำเป็น ประกอบด้วย เครื่องดูดโคลน (Screw Pump) จำนวน 1 เครื่อง เครื่องสูบน้ำดีเซล จำนวน 60 ตัว และเครื่องสูบน้ำชนิดจุ่มใต้น้ำ (Submerged Pump) จำนวน 16 ตัว เสริมทีมกู้ภัยเฉพาะกิจ กฟผ. ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมทีมกู้วิกฤตระบบสื่อสาร เข้าประจำการ ณ กฟผ.สำนักงานบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดเหตุขัดข้องกับระบบสื่อสาร กฟผ. ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ