นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ได้ทำพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและส่งเสริมมาตรฐานการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์ระบบรางระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
นายวรวุฒิ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะระบบทางรางให้มีความทันสมัยเจริญรุดหน้าเทียบเท่านานาประเทศ พร้อมกับจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางของไทย ให้สามารถรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเกิดขึ้น รฟท. จึงจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและส่งเสริมมาตรฐานการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์ระบบรางกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมมาตรฐานและการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์ระบบราง การยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟที่มีศักยภาพการผลิตในประเทศ เช่น วัสดุทางรถไฟ และวัสดุอื่นๆ ให้มีมาตรฐานสากลแข่งขันทางธุรกิจกับต่างประเทศ การยกระดับความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตชิ้นส่วนรถไฟ การศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานการทดสอบ ในด้านผลิตภัณฑ์และการรับรองมาตรฐานการผลิตในด้านอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นต้น
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ในระยะเริ่มต้นจะริเริ่มส่งเสริมมาตรฐานและการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์ระบบราง ในชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนน้อยก่อนแล้วสั่งสมประสบการณ์เพื่อต่อยอดไปผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนสูงขึ้นต่อไป เพื่อลดภาระการนำเข้าสินค้า การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ รวมถึงเตรียมพร้อมสู่การขยายโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในอนาคต ซึ่งเป็นโมเดลที่สอดคล้องกับหลายประเทศที่ได้มีการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางรางเกิดขึ้น
"การรถไฟฯ เชื่อว่าการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระบบรางของไทย และพัฒนาสถานะประเทศไทยจากประเทศผู้ซื้อ มาเป็นประเทศผู้ผลิตเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ตลอดจนช่วยขยายขีดความสามารถของไทยให้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟได้ในอนาคต"รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าว