นักวิเคราะห์ชี้ตลาดแรงงานออสซี่แกร่งอาจส่งผลแบงค์ชาติไม่รีบขึ้นดบ.

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 17, 2008 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บรรดานักวิเคราะห์แสดงความเห็นว่า อัตราจ้างงานของออสเตรเลียในเดือนธ.ค.2550 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน และเป็นอัตราการขยายตัวในตลาดแรงงานที่ยาวนานที่สุดในรอบ 27 ปี รวมถึงอัตราว่างงานที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 33 ปี เป็นตัวบ่งชี้ถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนความคิดเห็นที่ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของสำนักงานสถิติออสเตรเลีย (ABS) ว่า จำนวนผู้มีงานทำที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลปรับตัวเพิ่มขึ้น 20,100 ตำแหน่ง แตะที่ระดับ 10.6 ล้านตำแหน่งในเดือนธ.ค. ขณะที่พนักงานประจำถีบตัวสูงขึ้น 6,300 ตำแหน่ง เป็น 7.6 ล้านตำแหน่ง และพนักงานพาร์ทไทม์ขยายตัวขึ้น 13,800 ตำแหน่งแตะที่กว่า 3 ล้านตำแหน่ง
ขณะที่อัตราว่างงานปรับตัวลดลง 4.3% จากระดับ 4.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 4.4% โดยตัวเลขว่างงานปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 33 ปีที่ระดับ 4.2% ในเดือนก.ย.
เคร็ก-เจมส์ นักวิเคราะห์จากคอมม์เซคกล่าวว่า "ตลาดแรงงานของออสเตรเลียยังเคลื่อนไหวในระดับที่แข็งแกร่ง เนื่องจากออสเตรเลียมีตัวเลขจ้างงานที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันนานที่สุดในรอบ 27 ปี ขณะที่ตัวเลขว่างงานปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี"
ทั้งนี้ ตัวเลขจ้างงานที่มีรายงานออกมาล่าสุดนี้ได้ช่วยตอกย้ำถึงภาวะเศรษฐกิจออสเตรเลียที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.พ.ออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์บางกลุ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.พ. หลังจากที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 0.50% ในเดือนส.ค.และเดือนพ.ย.2550 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของธนาคารกลาง ซึ่งจนถึงขณะนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อสองครั้งที่ผ่านมาได้มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยออกมาเมื่อเร็วๆนี้ก็ได้ช่วยสนับสนุนความเป็นไปได้ที่ว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากธนาคารวิตกกังวลต่อวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐให้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งภาวะเช่นนี้อาจลุกลามไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งรวมถึงออสเตรเลียด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ