น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลสาธารณรัฐโปแลนด์ มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะขยายตลาดการค้าการลงทุนกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของกลุ่ม ASEAN ไม่ว่าจะเป็น ทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมถึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์อีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้นในปี 2562 ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การเป็นประธานอาเซียน ทำให้สาธารณรัฐโปแลนด์เล็งเห็นถึงศักยภาพและบทบาทสำคัญของไทยในภูมิภาคนี้ จึงกำหนดแผนที่เปิดสำนักงาน Polish Investment and Trade Agency ที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 เพื่อส่งเสริมและขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับไทย และใช้ไทยเป็น Hub สู่อาเซียน ซึ่งคาดว่าสำหรับการเปิดสำนักงานฯ ในครั้งนี้จะมีระดับรัฐมนตรีโปแลนด์เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมจัดคณะผู้แทนการค้าจากภาคเอกชนเดินทางมาเจรจาการค้าในประเทศไทยอย่างเป็นทางการการเยือน พร้อมคณะผู้แทนการค้า
นอกจากการเปิดสำนักงานฯ ในกรุงเทพฯ โปแลนด์เตรียมที่จะจัดพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือกับ DITP เพื่อขยายการค้าการลงทุนพร้อมผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ ภาครัฐของสาธารณรัฐโปแลนด์เตรียมขยายกรอบความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในหลากหลายมิติกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งบางส่วนได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ว่าด้วยเรื่อง 1) การท่องเที่ยว 2) นวัตกรรม 3) Startups 4) การเกษตร เป็นต้น
DITP เล็งเห็นโปแลนด์เป็น Strategic Partnership และเป็นประตูเชื่อมโยงการค้าการลงทุนสู่ยุโรปตะวันออก และสหภาพยุโรป ภาวะเศรษฐกิจของประเทศโปแลนด์ในภาพรวมปี 2561 GDP มีการขยายตัวสูงร้อยละ 4.3 โดยแรงขับเคลื่อนมาจากการบริโภคของภาคครัวเรือนมีศักยภาพ ปัจจุบัน ผู้มีรายได้ปานกลางของโปแลนด์มีรายได้เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ การออกแบบและภาพลักษณ์ที่ดี มากกว่าการพิจารณาปัจจัยทางด้านราคาอย่างเดียว ถือเป็นโอกาสในการเข้าสู่ตลาดโปแลนด์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพและการออกแบบที่ดี นอกจากนี้ DITP ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพโปแลนด์ในการผลักดันให้ภาคเอกชนเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันในสาขาที่โปแลนด์มีความเชี่ยวชาญและมีนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เกษตรกรรมและเทคโนโลยี โดยเน้นให้เอกชนหาช่องทางในการเข้าไปลงทุนในโปแลนด์
ในขณะเดียวกันก็เชิญชวนให้ภาคเอกชนโปแลนด์เข้ามาลงทุนในโครงการภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะการพัฒนา electro mobility (รถยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลโปแลนด์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ทั้งฝ่ายโปแลนด์และฝ่ายไทย โดยคาดว่ามูลค่ารวมของโครงการที่เกี่ยวข้องกับสาขานี้จะมีมูลค่ามหาศาลในสิบปีข้างหน้า นอกจากนี้ DITP ยังมีแผนจัดคณะผู้แทนการค้าเข้าร่วมโครงการส่งเสริมนักธุรกิจไทยแสวงหาโอกาสการลงทุนและดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งจะเป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในการจัดโครงการดังกล่าวอีกด้วย
สาธารณรัฐโปแลนด์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 46 ของไทยในโลกและเป็นอันดับที่ 13 ในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยการค้าของไทยกับโปแลนด์ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2560/ ค.ศ. 2015-2017) มีมูลค่าเฉลี่ย ปีละ 670.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560 (ค.ศ. 2017) การค้ารวมมีมูลค่า 798.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 11.49 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 103.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการส่งออกสาธารณรัฐโปแลนด์เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 43 ของไทยและเป็นอันดับที่ 10 จากสหภาพยุโรป
ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2558-2560/ ค.ศ. 2015-2017) การส่งออกของไทยไปยังโปแลนด์มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 408.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560 (ค.ศ. 2017) การส่งออกมีมูลค่า 451.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 16.19 สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ อัญมณีและเครื่องประดับ