(เพิ่มเติม) SCB EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 62 เหลือโต 3.8% จากเดิม 4% รับผลส่งออก-ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจโลกชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 8, 2019 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 62 ขยายตัวที่ 3.8% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4% และชะลอตัวจากปีก่อนที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.2% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น (late expansion cycle) ตามภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสำคัญที่ชะลอลง ประกอบกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของไทยชะลอลงในปีนี้

ขณะที่วัฏจักรการเงินในประเทศได้ผ่านจุดสูงสุด ทำให้ภาวะการเงินจะทยอยตึงตัวขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระดับดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับในช่วง 5 ปีก่อนหน้า (ปี 56-60) ที่เติบโตเฉลี่ยได้ไม่ถึง 3% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีมาจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้น การลงทุนต่อเนื่องในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการย้ายฐานการผลิตมายังไทยของธุรกิจต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

อีไอซีประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 62 จะขยายตัวได้ที่ราว 5.7% โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาส 2/62 และกลับมามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แต่จำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมจะชะลอตัวจากปีก่อนที่คาดว่าเติบโต 6.8% ในด้านการบริโภคภาคครัวเรือนจะสามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามอัตราการว่างงานที่มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆของรายได้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

สำหรับในปี 62 จะมีความท้าทายรอบด้านทั้งจากปัจจัยภายนอกและในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย สงครามการค้าที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นอีกได้ โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง และอาจส่งผลลบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลกได้มากกว่าที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรขาขึ้น ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของ ประเทศต่าง ๆ ทยอยสูงขึ้น ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิที่เข้ามาในตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงและผันผวนมากขึ้น และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางการเมือง ในภูมิภาคสำคัญ เช่น กรณีการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) สถานการณ์ในอิตาลี และ การคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ เป็นต้น

ขณะที่ความท้าทายภายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการใช้จ่ายที่กระจุกตัวจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาในการปรับตัวของแรงงานและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ภาวะการเงินในประเทศที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นทั้งจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และจากมาตรการ macroprudential ที่เข้ามากำกับดูแลการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และความไม่แน่นอนของกระบวนการ รวมถึงผลของการเลือกตั้งที่จะมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน ตลอดจนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ของประเทศในระยะข้างหน้า

อีไอซีประเมินเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจควรเร่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งอีไอซีประเมินว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยในปี 2562 จะยังอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ความเพียงพอของทุนสำรองระหว่างประเทศ อัตราการว่างงานในระดับต่ำ ความสามารถในการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากระดับหนี้สาธารณะที่ยังไม่สูงมากนัก

อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าทุกภาคส่วน ของเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต (automation) ในหลายอุตสาหกรรม การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในด้านการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อครัวเรือน แรงงาน และกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ แม้ภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพในภาพรวมจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีก็ตาม

นายยรรยง กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีก่อนที่ 32.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับปีก่อน เนื่องจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในปีก่อนมาจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตโดดเด่นที่สุด และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯในปีก่อน 4 ครั้ง หรือทุกไตรมาสของปีก่อน ทำให้เงินทุนไหลกลับไปไนตลาดสหรัฐฯ ส่งผลหนุนต่อการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์หรัฐฯ แต่ในปีนี้ภาพดังกล่าวจะตรงกันข้ามกัน หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเริ่มชะลอตัวลง อีกทั้งประธานเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯในปี 62 จะชะลอตัวลง และลดลงจากเดิมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 62 จำนวน 3 ครั้ง เหลือเพียง 2 ครั้ง ทำให้เห็นถึงภาวะของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เริ่มขยายตัวแบบชะลอลง

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้กระแสเงินทุนเริ่มไหลออกมาจากสหรัฐฯเข้าสู่ตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่มากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งในมุมมองของนักลงทุนจะมองในแง่ของผลตอบแทนและศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ตลาดเกิดใหม่มีความน่าสนใจมากกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว ทั้งในด้านความเชื่อมั่นและผลตอบแทน ส่งผลให้เงินทุนเริ่มไหลกลับมาสู่ตลาดเกิดใหม่ในต้นปีนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนต่อประเทศไทยด้วย ซึ่งนักลงทุนยังมองว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในการเข้างลงทุน เพราะยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี มีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 3-4 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ และเป็นประเทศที่เป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย หรือ Safe Heaven ทำให้กระแสเงินทุนไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยในช่วงต้นปีนี้ และทำให้ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และค่าเงินบาทคงจะแข็งค่าขึ้นในปีนี้เล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงของการเจรจาสงครามการค้าที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะทำให้ค่าเงินมีความผันผวนได้

ส่วนทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในปี 62 คาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ภายในปี 62 ในอัตรา 0.25% ต่อปี ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในสิ้นปีนี้อยู่ที่ 2% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 1.75% ต่อปี แต่มองว่าการพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้จะไม่เร่งรีบมากเกินไป โดยที่คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดคาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2/62 และอย่างช้าที่สุดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 เนื่องจากต้องรอดูปัจจัยต่างๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะเศรษฐกิจไทย การเจรจาสงครามการค้า และเงื่อนไขอัตราเงินเฟ้อของไทยประกอบ

ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขึ้นนั้น ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำไปแล้ว 0.25% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์อาจจะยังไม่ปรับในเร็วๆนี้ จากความกังวลในเรื่องความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบางกลุ่มที่ยังมีหนี้เสียสูงอยู่ ซึ่งอาจจะบั่นทอนความสามารถในการชำหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ทำให้จะต้องพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรอบคอบไม่กระทบต่อลูกค้า และจะต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆประกอบไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ