(เพิ่มเติม) สรท. คาดส่งออกปี 61 โต 7% ต่ำกว่าเป้าหมาย รับผลกระทบตลาดจีนชะลอตัว-สงครามการค้ากระทบ คงคาดการณ์ปีนี้โต 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 8, 2019 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คาดว่าทิศทางการส่งออกของประเทศไทยในปี 61 จะเติบโตได้ในกรอบ 7-7.3% ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ 9% โดยทิศทางการส่งออกในช่วงไตรมาส 4/61 เองมองว่าจะอยู่ที่ราว 20,500-21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากมีจำนวนวันทำงานที่ไม่มากนัก ในขณะเดียวกันหลักใหญ่ได้รับผลกระทบจากประเทศจีนที่มีการชะลอตัว เนื่องจากสงครามทางการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศสหรัฐ ส่งผลให้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมีการชะลอตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งในปีนี้ 11 เดือนยอดส่งออกไปประเทศจีนมีการเติบโตได้เพียง 2.4% จากปีก่อนเติบโตได้กว่า 20% จึงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องติดตาม

"สรท. คาดการณ์การส่งออกปี 61 โต 7% และคาดการณ์ปี 62 โต 5% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (บวก/ลบ 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ"

โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ คือ โอกาสของไทยในการเป็นประธาน ASEAN ทำให้ไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเป็นอัตลักษณ์ Uniqueness ให้กับสินค้าไทยรวมถึงการผลักดันประเด็นทางด้านการเพิ่มความสะดวกทางการค้า และการลดการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีทั้ง NTB และ NTM

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและความเชื่อมั่นต่อการลงทุน ซึ่งต้องติดตามการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค.62 ขณะที่จีนประกาศนโยบายเริ่มลดภาษีสินค้านำเข้า-ส่งออกกว่า 700 รายการ ในวันที่ 1 ม.ค. 62 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการนำเข้าสินค้าอื่นทดแทนสินค้าที่ต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ และเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องครั้งใหญ่ ซึ่งสินค้าไทยอาจถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีน 2) ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป เนื่องจากปี 2562 ความตกลง EU-Vietnam FTA จะเริ่มมีผลบังคับใช้ และสินค้าที่เวียดนามส่งออกนั้นเป็นสินค้ากลุ่มเดียวกับไทยในตลาดสหภาพยุโรป

3) เหตุจลาจลในกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนไทยมองเห็นความเสี่ยง และความไม่แน่นอนในการตัดสินใจเข้าไปเปิดตลาดส่งออกใหม่ 4) ความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการความเสี่ยง และต้นทุนการบริหารจัดการของภาคเอกชน 5) การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก 1.5% เป็น 1.75% ส่งผลต่อการแข็งค่าของค่าเงินบาท และกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออก และ 6) กฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศ เป็นการภาระต้นทุนและเป็นการกีดกันผู้ประกอบการส่งออกทางอ้อม เช่น การเปลี่ยนกระบวนการตรวจสอบในสินค้าเกษตร

นอกจากนี้ ได้เสนอแนะภาครัฐ ควรใช้รูปแบบของการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยการทำกิจกรรม Trade Mission เพิ่มมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมแยกตามกลุ่มสินค้า และแยกตามกลุ่มประเทศเป้าหมาย เพื่อเป็นการขยายฐานตลาดรวมถึงเป็นการสำรวจกลุ่มตลาดใหม่ ในปี 2562, ภาครัฐควรเร่งแก้ไขและลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นอุปสรรคภายในประเทศให้มีความสอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบันและอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในรูปแบบ NTB และ NTM, การผลักดันและเร่งเจรจาการค้าระหว่าประเทศ (FTA) เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ส่งออกไทย เช่น ปากีสถาน, อียิปต์, สหภาพยุโรป และ RCEP เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรตรวจสอบและสำรวจตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดแรงกระทบจากความผันผวนจากสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกเดือนพ.ย. 61 มีมูลค่า 21,237 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -0.95% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 22,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY)

ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.- พ.ย. ปี 2561 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 232,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้ามีมูลค่า 231,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 14.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ