นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีการรับเงินบริจาค ซ่อมแซมอาคาร ห้องชุด และรถยนต์ และบูรณาการ 7 สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ช่วยบรรเทาภาระผู้ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก โดยประกอบด้วย มาตรการทางด้านภาษี 2 มาตรการ คือ มาตรการหักลดหย่อนภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับการบริจาค รวมทั้งมาตรการทางด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) รวม 19 มาตรการ และอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ พ.ศ.... ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์, รถยนต์ ในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก)
สำหรับมาตรการทางด้านภาษี ให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ เช่นเดียวกับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ โดยจะต้องเป็นการบริจาคผ่านหน่วยงานส่วนราชการ อง์การของรัฐบาล องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือผ่านเอกชนที่เป็นตัวแทนรับบริจาคที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพากร ในส่วนของผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับบริจาค เงินชดเชยจากรัฐบา หรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคนอกเหนือจากเงินชดเชยจากรัฐบาล จะไม่นำมาคำนวณเป็นเงินได้ แต่จะต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
นอกจากนี้ บุคคลธรรมดายังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคาร หรือห้องชุดไม่เกิน 1 แสนบาท และค่าซ่อมแซมรถ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถไม่เกิน 3 หมื่นบาท โดยจะต้องมีการใช้จ่ายระหว่างวันที่ 3 ม.ค. ถึง 31 มี.ค.62
ในส่วนของมาตรการทางด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง รวม 19 มาตรการ ประกอบด้วย การพักชำระหนี้ตั้งแต่ 3-6 เดือน และการให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินหรือการซ่อมแซม สรุปได้ดังนี้
- ธนาคารออมสิน พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความหนักเบาของผู้ประสบภัย และให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและฟื้นฟูการประกอบอาชีพ
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 เดือน สำหรับลูกหนี้ที่หลักประกันเสียหาย และให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมหรือทดแทนอาคารเดิม วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ประนอมหนี้ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบด้านรายได้ ในกรณีลูกหนี้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจากอุทกภัย คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ในกรณีที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ได้รับความเสียหายทั้งหลัง ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคารและให้ผ่อนชำระต่อในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา และสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นระยะเวลา 6 เดือน
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) พักชำระหนี้เงินต้นและกำไรเป็นระยะเวลา 3 เดือน และพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 36 เดือน ให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมตามความจำเป็น อัตรากำไร SPRR -3.5% ต่อปี หรือ SPRL -2.27% ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี ให้สินเชื่อเพื่อพี่น้องมุสลิม วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย SRPP -3.5% ต่อปี ไม่มีค่าธรรมเนียมและไม่ต้องมีหลักประกัน
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการ 1% เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน ให้สินเชื่อเพื่อซื้อ, ซ่อมแซมเครื่องจักร, อาคารโรงงานที่ได้รับความเสียหาย ระยะเวลา 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีในปีแรก
- บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน และโครงการค้ำประกันสินเชื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้ วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 0% เป็นระยะเวลาสูงสุด 2 ปี
ทั้งนี้ มีการประเมินว่ารัฐบาลอาจจะสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์ 60 ล้านบาท และด้านรถยนต์ 820 ล้านบาท แต่เป็นประโยชน์เพื่อการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปาบึก