นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นประธานในพิธีกดปุ่มเริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งดำเนินการโดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า
โดยรฟม. ร่วมกับ ITD ได้นำเทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์ที่มีประสิทธิภาพขุดเจาะใต้ดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียว พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนอันประกอบด้วย ท่อลำเลียงดินออก อุปกรณ์สำหรับควบคุมทิศทาง อุปกรณ์ไฮโดรลิคส์เพื่อการลำเลียงวัสดุก่อสร้าง เข้า-ออก ในระหว่างการขุดเจาะและการก่อสร้างอุโมงค์ อุปกรณ์ระบายอากาศ ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างครบครัน มาใช้ในงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า จากสถานีคลองบ้านม้า ไปยัง สถานีหัวหมาก บริเวณซอยรามคำแหง 40 ซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 4.07 กิโลเมตร โดยเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ที่นำมาใช้นี้ มีขนาดความยาว 11 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 6.39 เมตร น้ำหนัก 320 ตัน สามารถขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ในระดับความลึก 20 – 30 เมตร ด้วยสมรรถภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10 - 15 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จุดเริ่มต้นโครงการและเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) สถานี รฟม. สถานีวัดพระราม 9 สถานีรามคำแหง 12 สถานีรามคำแหง สถานี กกท. สถานีหัวหมาก สถานีลำสาลี สถานีศรีบูรพา และสถานีคลองบ้านม้า และมีสถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่ สถานีสัมมากร สถานีน้อมเกล้า สถานีราษฎร์พัฒนา สถานีมีนพัฒนา สถานีเคหะรามคำแหง สถานีมีนบุรี และสถานีสุวินทวงศ์ เป็นจุดสิ้นสุดโครงการ รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 22.57 กิโลเมตร โดยได้เริ่มดำเนินงานก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 และมีความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 คิดเป็นร้อยละ 24.59 โดยในส่วนของสัญญาที่ 3 นี้ มีความความก้าวหน้าอยู่ที่ ร้อยละ 22.94
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2566 ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงกรุงเทพฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง ทั้งยังเป็นเส้นทางที่จะเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยรูปแบบการเดินทางหลักที่สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างยั่งยืนต่อไป