นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจเกษตรและอาหารของไทย นับว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยสัดส่วนของภาคการเกษตรต่อ GDP ของประเทศไทย ในปี 60 อยู่ที่ 8.2% และจำนวนแรงงานในภาคการเกษตร มีทั้งสิ้นกว่า 11.78 ล้านคน คิดเป็น 31.5% ของแรงงานทั้งหมด และคิดเป็นครัวเรือนของประเทศไทยทั้งหมดมากกว่า 50% ของครัวเรือนทั้งหมดของประเทศ
จากนโยบายของหอการค้าไทยที่ได้วางแผนขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรและอาหาร เพื่อพัฒนา ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาธุรกิจเกษตรและอาหารให้สามารถยกระดับเกษตรและอาหารทั้ง Value Chain ของสมาชิกผู้ประกอบการและประเทศชาติ โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่สินค้าเกษตรและอาหาร ของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ปี 2562 ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การร่วมมือกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ในมิติต่างๆ กลางน้ำ คือ การบูรณาการในการดูแลถ่ายทอดความรู้วิชาการ การพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิต รูปแบบผลิตภัณฑ์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจัดการคุณภาพสินค้า เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรไทย และ ปลายน้ำ คือ การส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร และหาช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้สมาชิกผู้ประกอบการหอการค้าทั่วประเทศสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยได้กำหนดกลไกการขับเคลื่อน ดังนี้
1. ด้านการส่งเสริมการผลิต โดยส่งเสริมการพัฒนา ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อาศัยเครือข่ายหอการค้าไทยที่มีศักยภาพทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ตลอดจน การขยายตลาดในและต่างประเทศร่วมกันซึ่งหอการค้าไทยจะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อส่งเสริมสมาชิกผู้ประกอบการ ดังนี้
1.1 หอการค้าไทย จะร่วมลงนามความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติทั้งทางด้านการผลิต การตลาด และอื่นๆ
1.2 โครงการ Big Brother ภาคการเกษตร โดยให้บริษัทขนาดใหญ่ สมาคมการค้าที่เกี่ยวกับ Modern Trade เป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กและเกษตรกร เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมมาบริหารจัดการองค์กร
1.3 โครงการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกพืชที่มีระดับราคาสูง เพื่อยกระดับรายได้ของภาคเกษตรกร อาทิ สมุนไพร อินทผาลัม และโกโก้ เป็นต้น
2. ด้านนวัตกรรมและการแปรรูป โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม (Value Added) จากวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความหลากหลายผ่านการวิจัยและพัฒนาให้มีนวัตกรรม และการถ่ายทอดองค์ความรู้ของเครือข่ายภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
2.1 หอการค้าไทย จะร่วมลงนามความร่วมมือกับสถาบันอาหาร ผ่านโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรม
2.2 หอการค้าไทย จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาสินค้าเกษตรด้วยการนำนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะพืชสมุนไพร
3. ด้านการตลาด โดยหอการค้าไทย ให้ความสำคัญกับ การตลาดนำการผลิต เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์โดยการขับเคลื่อนดังนี้
3.1 สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ ในการนำสินค้าเกษตรไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในประเทศ
3.2 สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในการนำสินค้าเกษตรกรไปสู่ตลาดโลก
3.3 สร้างเครือข่ายระหว่างหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด ในการกระจายสินค้า เพื่อลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด
3.4 ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตร เพื่อกระจายรายได้ไปยังครัวเรือนภาคเกษตร และสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
3.5 ส่งเสริมขยายช่องทางการตลาดสินค้าสมุนไพร เพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และเน้นเจาะกลุ่ม Niche Market
3.6 ผลักดันการส่งออกสินค้า สัตวน้ำ โดยการส่งเสริมการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าชั้นสูงเพื่อการส่งออก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสำเร็จรูป ปี 2561 มีปริมาณการส่งออก 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.2% มูลค่าการส่งออก 21,415 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.3% การส่งออกอาหารสำเร็จรูปโดยรวม มีปริมาณการส่งออก 2.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1% มูลค่าการส่งออก 191,065 ล้านบาท หรือ 5,939 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยลดลง 2% ในรูปเงินบาท และขยายตัว 3% ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดีในปี 2561 ได้แก่ 1.สินค้ากลุ่มอาหารทะเล มีปริมาณ 114,817 ตัน ขยายตัว 11.9% มูลค่าการส่งออก 12,908 ล้านบาท ขยายตัว 4.8% หรือ 403 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.4% 2. สินค้ากลุ่มผักและผลไม้สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดีคือ ข้าวโพดหวานกระป๋อง กะทิ และกลุ่มผลไม้อบแห้ง โดยข้าวโพดหวานกระป๋อง ปริมาณการส่งออก 228,796 ตัน ขยายตัว 10% มีมูลค่า 6,880 ล้านบาท ขยายตัว 3.6% หรือ 214 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9% 3. สินค้ากลุ่มเครื่องปรุงและอาหารพร้อมรับประทาน มีปริมาณการส่งออก 683,141 ตัน ขยายตัว 3% มูลค่า 43,621 ล้านบาท ขยายตัว 1% หรือ 1,424 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4%
ทั้งนี้ ในปี 2562 การส่งออกอาหารสำเร็จรูปจะสามารถขยายตัว 5% อันเนื่องมาจากโอกาสทางการค้าในการขยายตลาดเข้าสู่ประเทศกลุ่มตลาดใหม่ เช่น ละตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง การเพิ่มยอดขายในกลุ่มประเทศที่ซบเซาในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ที่กำลังขยายตัวได้ดี สำหรับอุปสรรคของอุตสาหกรรม ได้แก่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สืบเนื่องมาจากปี ที่ผ่านมา, ความผันผวนของราคาน้ำ ทำให้กำลังซื้อของประเทศผู้ค้าน้ำมันลดลง, การถูกตัดสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ในสินค้าบางรายการของไทย ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันลดลง อีกทั้งประเทศคู่แข่งยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ดีกว่า เช่น GSP+ , FTA รวมถึงสภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้บรรยากาศการค้าโลกไม่สดใส และส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
ด้านนายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า สถานการณ์สินค้าประมงไทยปี 2561 โดยการส่งออกสินค้าประมง หมวดอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง โดยภาพรวมมีปริมาณการส่งออกลดลง 5% มูลค่าเงินบาทลดลง 15% (มูลค่าเงินสหรัฐฯ ลดลง 10%) ซึ่งประเทศที่มีการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นคือในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม ฮ่องกง ขณะที่ตลาดส่งออกหลักมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ รวมถึงกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
หากพิจารณาภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออกอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง มีปริมาณ 432,643 ตัน ลดลง 5% คิดเป็นมูลค่า 81,885 ล้านบาท ลดลง 14% หรือ 2,557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2560
อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 2561 เป็นปีที่อุตสาหกรรมประมง มีภาพลักษณ์โดยรวมที่ดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์หลักที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริม 3 ประเด็น คือ
1. รายงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ จัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย (TIPs Report) เลื่อนระดับจาก Tier 2 watch ขึ้นเป็น Tier2
2. การบริหารจัดการด้านประมงของไทย ทำให้สหภาพยุโรปเห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาด้านประมง ทั้งการแก้กฎหมาย จัดระเบียบเรือ ตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ด้านแรงงาน และวางระบบตรวจสอบแรงงานที่ศูนย์ PIPO
3. กุ้งไทยฟื้นจากโรค EMS จากผลผลิตปี 2557 ที่ 217,000 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนปี 2561 ตัวเลขอยู่ที่ 251,000 ตัน
สำหรับโอกาสในปี 2562 ของอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ด้านการจับจากทะเลและการเพาะเลี้ยง ดังนี้
1. จากทะเลหรือจากการจับตามธรรมชาติ ซึ่งจากที่ทางรัฐบาลของไทยได้มีการจัดระเบียบเรือ ระบบการจัดการด้านเอกสารตรวจสอบย้อนกลับที่ดี จะเป็นการสร้างโอกาสในเพิ่มการนำสินค้าที่จับจากธรรมชาติมาเพื่อแปรรูปส่งออก ทำให้สินค้าประมงของไทยได้รับความเชื่อมั่นจากประเทศผู้นำเข้าเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะขยายปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก
2. จากการเพาะเลี้ยง นอกจากภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องจะส่งเสริมในภาคการเลี้ยงแล้ว หากภาครัฐมีการสนับสนุนเพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งแปรรูปเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าแปรรูปชั้นสูง (value added) จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกให้กับสินค้าอาหารแช่เยือกแข็งของไทย และเสริมให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารสู่ตลาดโลกด้วย