นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังมอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า บีโอไอตั้งเป้าคำขอส่งเสริมการลงทุนปี 62 เงินลงทุน 7.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายใกล้เคียงปี 61 แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน จึงต้องการให้ปี 62 เน้นเรื่องคุณภาพของนักลงทุนและการลงทุนที่เกิดขึ้น
สำหรับในปี 61 ยอดส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 9 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่ 7.2 แสนล้านบาท ถือว่าเกินเป้าที่วางไว้ โดยเฉพาะในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ มีมูลค่าขอส่งเสริมการลงทุนขยายตัวได้มาก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีเวลาทำงานถึงเดือนพฤษภาคมภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน แต่ยังเชื่อมั่นว่า ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น จึงจำเป็นต้องเดินหน้าทำงานในช่วงครึ่งปีแรกอย่างเต็มที่
นายสมคิด ได้ฝากการบ้านให้บีโอไอ เตรียมมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สร้างความเท่าเทียม ลดความเลื่อมล้ำ สร้างความเจริญและพัฒนาท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยหากผู้ประกอบการรายใดเข้าไปลงทุนให้ท้องถิ่น เน้นภาคเกษตร สร้างวิสาหกิจชุมชน สร้างอุตสาหกรรมท้องถิ่น รวมถึงระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงเมืองรอง หรือ ภาคธุรกิจที่ลงทุนด้านท่องเที่ยวเมืองรอง หรือการศึกษาในท้องถิ่น ก็ให้ทางบีโอไอให้สิทธิประโยชน์มากเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ได้ฝากให้บีโอไอผลักดันการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจในภาคใต้จากฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทยในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานีและระนอง โดยให้จัดทำโครงการที่ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ พร้อมทั้งในปีนี้ ให้มีการเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมอบหมายให้บีโอไอจัดคณะทำงานหนึ่งคณะลงไปขับเคลื่อน เน้นเรื่องการส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้น
ปัจจุบันสัดส่วนของเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวต่อจีดีพีขยายตัวได้ถึง 15% จึงอยากเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยให้การท่องเที่ยวและบริการเป็นศูนย์กลาง เชื่อว่า การลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆจะตามมา จึงอยากให้มีการเน้นการส่งเสริมไปยังระดับท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีการจ้างงาน อุตสาหกรรมการผลิตและตลาดสินค้าด้วย
"การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลางพัฒนาเศรษฐกิจ ให้โฟกัสไปที่การท่องเที่ยว ถ้าสำเร็จจะกลายเป็นออโตเมติกก่อให้เกิด Local Economy ที่เข้มแข็ง"นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ มอบหมายให้ทางบีโอไอ จัดทำโครงการบ้านบีโอไอที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ที่เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2535 โดยปรับหลักเกณฑ์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สามารถลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกได้ แต่บีโอไอต้องมีเงื่อนไขและมาตรฐานที่ควบคุมคุณภาพไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงปลายเดือนนี้เตรียมเดินทางโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยรอบนี้ตั้งใจจะไปดูงานที่เมืองคันไซ จึงฝากให้บีโอไอเตรียมความพร้อมไว้ด้วย พร้อมทั้ง มอบหมายให้ทางบีโอไอจัดเตรียมงานสัมมนาประจำปีของบีโอไอให้มีการสานต่องานจากปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น
ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ เตรียมลงนามกับรัฐบาลฮ่องกง หลังฮ่องกงมีแผนที่จะเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้า (ETO) ในประเทศไทย โดยมอบหมายให้บีโอไอเตรียมคณะที่จะเดินทางไปลงนาม ซึ่งตนเองก็เตรียมการหารือกับผู้ว่าฮ่องกง เพื่อหารือถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วย
สำหรับกรณีที่จีนและญี่ปุ่นมีการประชุมร่วมกันและตัดสินใจที่จะไม่แข่งขันทางการค้าที่ไม่สร้างสรรค์ และมองหาประเทศที่ 3 ที่จะลงทุน โดยให้ความสนใจประเทศไทยเป็นประเทศแรก ซึ่งในเรื่องนี้ นายสมคิด กล่าวว่า จากผลการหารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เมื่อวานนี้ ทางเจโทรพร้อมเป็นตัวกลาง ในการนำนักลงทุนทั้งจีนและญี่ปุ่นมาประชุมร่วมกันครั้งแรกที่ประเทศไทย จึงฝากให้ทางบีโอไอได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้ให้ดี
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีที่บีโอไอมองปี 2562 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว ทำให้บีโอไอตั้งเป้าหมายคำขอรับการส่งเสริมลงทุนไว้ที่ 7.5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นไม่มากนักจากปี 2561 ที่ตั้งเป้าหมายอยู่ที่ 7.2 แสนล้านบาท แต่ยอดคำขอทั้งปีทำได้ถึง 9 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้
"บีโอไอมองว่าเศรษฐกิจโลกยังผันผวน และประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทั้งบวกและลบ จึงตั้งเป้าคำขอปีนี้ไว้ที่ 7.5 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีที่ต้องดำเนินการให้ได้ก่อนมีการเลือกตั้งตามแผนงานที่กำหนด เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา รวมถึงโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น"
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ยังส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ เช่น เกาหลี จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ให้มีความสนใจที่จะย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น จากทั้งนักลงทุนในจีนและสหรัฐ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องกำแพงภาษีที่จะส่งออกสินค้าไปจีนและสหรัฐ ทำให้ไทยเนื้อหอมขึ้นมา