นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย ไทย-ญี่ปุ่น และฉบับล่าสุด อาเซียน-ฮ่องกง ฮ่องกงและไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว ขณะนี้รอประเทศอาเซียนอื่นให้สัตยาบัน คาดว่าจะพร้อมมีผลใช้บังคับภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ตลอดจนเอฟทีเอที่อยู่ในระหว่างการเจรจา เช่น ไทย-ศรีลังกา ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน รวมทั้งการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วน RCEP
กรมฯ จึงมีความตั้งใจที่จะส่งมอบความสุขเป็นของขวัญปีใหม่นี้ ในรูปแบบการให้ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศและความตกลงการค้าเสรีให้กับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ โดยมีกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งในการทำธุรกิจ ได้แก่ เอฟทีเอคลินิค เพื่อรับปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจการค้า ตลอดจนนำเข้าและส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอของไทย เอฟทีเอทอล์ก บอกเล่าโอกาสทางการค้าการลงทุนกับประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีด้วย พร้อมกับประสบการณ์การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและความสำเร็จก้าวสู่ตลาดโลกของพันธมิตรที่จับมือกับกรมฯ ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัย รวมถึงเอฟทีเอ 4.0 แนะนำการใช้และเข้าถึงฐานข้อมูลทางการค้าระหว่างประเทศของกรมเจรจาฯ ซึ่งประกอบด้วย คลังข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยและคู่ภาคีเอฟทีเอของไทยที่ถูกต้องทันสมัยที่สุดของประเทศ รวมถึงระบบการค้นหาอัตราภาษี มาตรการที่มิใช่ภาษี และการค้นหารายชื่อผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลที่คัดสรรเพื่อผู้ประกอบการใช้ในการขยายช่องทางการตลาดและเครือข่ายการค้า นอกจากนี้ ยังจะได้พบกับผู้ประกอบการชั้นนำที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ มาร่วมออกงานจำหน่ายสินค้าให้กับผู้เข้าร่วมงานได้เลือกซื้อกันมากมาย อาทิ สินค้าอุปโภค และสินค้าผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น
"กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้เรื่องความตกลงการค้าเสรี เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกของไทย และผู้สนใจ ได้ใช้ประโยชน์ในการเจาะตลาดต่างประเทศ และเตรียมการปรับตัวรองรับการแข่งขันจากต่างประเทศที่อาจเกิดขึ้น โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นความตั้งใจในการส่งมอบของขวัญปีใหม่จากใจของกรมฯ แก่ผู้ประกอบการ SMEs Start up ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้พร้อมแข่งขันในตลาดโลกอย่างมั่นคงในระยะยาว" นางอรมน กล่าว