ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้มาตรการภาครัฐที่ต่อเนื่องจากปีก่อนมีบทบาทสำคัญต่อรายได้เกษตรกรในปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 10, 2019 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 2562 อาจจะยังคงถูกกดดัน โดยมีสาเหตุสำคัญจากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้คาดว่าจะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรในช่วงต้นปี และแรงฉุดจากความต้องการจากจีนที่ชะลอลง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรน่าจะหดตัว 0.2-0.6% (YoY) ส่งผลให้รายได้เกษตรกรในปี 2562 อาจหดตัว 0.4-0.8% (YoY) จากที่ขยายตัว 0.2% ในปี 2561

สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในระยะสั้นในปี 2562 อาจต้องอาศัยความต่อเนื่องของการดำเนินงานด้านนโยบายที่ได้ดำเนินการไปแล้วในปีก่อน ทั้งมาตรการด้านการเกษตรโดยตรงในรายการพืชเกษตรหลัก ตลอดจนส่วนของมาตรการที่ช่วยด้านรายได้เกษตรกร ที่อาจเข้ามาช่วยลดภาระค่าครองชีพของเกษตรกร

ซึ่งนโยบายการเกษตรที่ภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือในระยะสั้นหรือนโยบายช่วยเหลือเฉพาะหน้าในปี 2561 มีดังนี้

1. มาตรการที่ช่วยด้านการเกษตรโดยตรงในรายการพืชเกษตรหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยในด้านการพยุงราคาและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร โดยมาตรการด้านการพยุงราคาจะทำในจังหวะเวลาที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก มาตรการที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการควบคุมอุปทานของตลาดในช่วงเวลาที่จำกัด เช่น การรับจำนำยุ้งฉาง หรือการกระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ขณะที่มาตรการด้านการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของเงินให้เปล่า หรือเป็นการสนับสนุนเงินทุนด้านปัจจัยการผลิตในช่วงเวลาที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกพืช ซึ่งก็จะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร โดยการดำเนินนโยบายเกษตรในปี 2561 มีกรอบเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน และใช้ในบางจังหวัดที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำเท่านั้น มีการจำกัดสิทธิ์ต่อเกษตรกรชัดเจน เช่น ต้องเป็นเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ทำกินเท่านั้น เป็นต้น ถือเป็นมาตรการที่มีเป้าหมายที่ตรงจุด

2.มาตรการที่ช่วยด้านรายได้เกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือในรูปของเงินให้เปล่า เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของเกษตรกร เช่น นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยทั้งประเทศผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 11.46 ล้านคน ช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากได้ประโยชน์ ทั้งกลุ่มเกษตรกร ประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐกว่า 50,000 ร้านค้า อีกทั้งในฝั่งของผู้ผลิตสินค้าเกษตรก็จะได้ประโยชน์ด้วยจากการใช้ร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นแหล่งกระจายสินค้าทางการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีนโยบายช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยตรง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561-กันยายน 2562 เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปีรายละ 500 บาทต่อคน ในเดือนธันวาคม 2561, การได้รับการยกเว้นค่าไฟ-ค่าน้ำ, ผู้ถือบัตรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับเงิน 1,000 บาทต่อคน และรัฐบาลช่วยค่าเช่าบ้านเดือนละ 400 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นต้น

สำหรับในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินงานด้านนโยบายการเกษตรของภาครัฐที่มีความต่อเนื่องจากโครงการเดิมที่ได้ดำเนินการไปแล้วในปีก่อนโดยเฉพาะนโยบายระยะสั้น ทั้งในส่วนของมาตรการที่ช่วยด้านการเกษตรโดยตรงและมาตรการที่ช่วยด้านรายได้เกษตรกร จะเป็นปัจจัยสำคัญในปี 2562 ที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องมุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรายการยางพาราและปาล์มน้ำมันก่อนพืชรายการอื่นอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นกลุ่มพืชที่มีแนวโน้มราคาอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง อีกทั้งยังมีจำนวนเกษตรกรจำนวนมาก จนอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้

"จากการดำเนินงานด้านนโยบายการเกษตรของภาครัฐที่มีความต่อเนื่องในปี 2562 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2562 ภาพรวมรายได้เกษตรกรน่าจะไม่แตกต่างจากปี 2561 มากนัก โดยคาดว่า รายได้เกษตรกรอาจหดตัวอยู่ที่ 0.4-0.8% (YoY) จากผลของแรงฉุดด้านราคาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรในปี 2562 นับว่ายังเป็นภาพที่ไม่ได้แย่นัก เนื่องจากผลของฐานที่สูงในปี 2561 และการสนับสนุนด้านนโยบายการเกษตรที่ต่อเนื่องของภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่หดตัวไปเล็กน้อยแต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับรายได้ที่ดีกว่าปีอื่นในอดีตเช่นในปี 2557-2559 ที่ประสบกับภาวะภัยแล้ง"

ในส่วนของนโยบายด้านการเกษตรของภาครัฐในระยะยาว เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทย ซึ่งจะสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) จะเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เน้นเกษตรคุณภาพสูง และการขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ตลอดจนความหลากหลายของสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การสานต่อการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรของภาครัฐในระยะยาวนับว่ามีความสำคัญ จากโครงการที่ดำเนินการอยู่ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เช่น โครงการเกษตรแปลงใหญ่ การส่งเสริมระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็ง เป็นต้น ซึ่งท้ายที่สุดคงหนีไม่พ้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการยกระดับภาคเกษตรไทย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภาคเกษตรของไทย นอกจากนี้ หากไทยสามารถต่อยอดเพื่อยกระดับภาคเกษตรไปสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งเชื่อมโยงอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐสนับสนุนมากถึง 5 อุตสาหกรรม คือ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร และท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวสุขภาพ นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรและเกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ จะเป็นการช่วยสร้างรายได้ใหม่และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ

สำหรับความช่วยเหลือของภาครัฐอาจต้องเน้นไปที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเกษตร เช่น ถนน ชลประทาน ท่าเรือ สนามบิน อีกทั้งการให้องค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนางานด้านการเกษตร การช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป และที่สำคัญคือ การเร่งผลักดันให้แนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตร (เกษตร 4.0) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการปรับเกษตรต้นน้ำ จากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อที่จะยกระดับฐานะการครองชีพของครัวเรือนเกษตรกรซึ่งครอบคลุมฐานประชากรถึง 1 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งประเทศ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและมั่นคงมากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของภาคธุรกิจการเกษตรเอง ก็ต้องเร่งปรับตัวในด้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางเกษตร 4.0 ของภาครัฐ ด้วยการนำแนวทาง Smart Farming มาใช้ให้เร็วที่สุด ด้วยการมุ่งหาตลาดที่มีความเฉพาะกลุ่ม เช่น ตลาดสินค้าเกษตรออร์แกนิค อย่างข้าวออร์แกนิค ผัก/ผลไม้ออร์แกนิค เพื่อเป็นการตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ และยังเป็นการยกระดับไปสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่มีกำลังซื้อสูง ตลอดจนต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อินเดีย เป็นต้น ซึ่งเมื่อผนวกกับช่องทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับข้อมูลการผลิตได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สามารถทำการซื้อขายสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้ผลิตสามารถแสดงให้เห็นผลผลิตต่างๆ ภายในฟาร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสั่งซื้อได้ ซึ่งจะเป็นการขยายช่องทางการตลาดและทำให้การดำเนินธุรกิจราบรื่นยิ่งขึ้น อันจะเป็นแนวทางในการปรับตัวของสินค้าเกษตรไทยเพื่อการพัฒนาและยกระดับไปสู่ความยั่งยืนได้ในเวทีโลก

สำหรับรายละเอียดแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลักปี 2562 อาทิ ข้าว ราคาอาจปรับลดลงเล็กน้อย แต่ก็นับว่าราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี จากผลของฐานในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง โดยคาดว่า ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 (YoY) ขณะที่ด้านความต้องการจากต่างประเทศยังมีรองรับ ทั้งจากช่องทางการซื้อภาคเอกชน และแบบ G to G ทำให้ราคาข้าวไทยน่าจะสามารถทรงตัวได้ในระดับสูงใกล้เคียงกับปีก่อน

ราคายางพาราอาจปรับลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน แต่น่าจะเป็นระดับราคาที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจัยกดดันสำคัญน่าจะมาจากแนวโน้มผลผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความต้องการจากจีนก็ชะลอลง แม้จีนจะมีความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตัวเลขสต๊อกยางของจีนก็ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอ่อนตัวต่อเนื่อง จึงทำให้แนวโน้มราคายางพารายังคงให้ภาพที่ไม่แข็งแกร่ง

ราคามันสำปะหลังอาจปรับลดลงเล็กน้อย แต่ก็นับว่าราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี จากผลของฐานในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง ปัจจัยสำคัญมาจากความต้องการของจีนที่ชะลอลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ราคาอ้อยน่าจะปรับตัวลดลง ตามแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากผลผลิตอ้อยในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะบราซิล อินเดีย รวมถึงไทย

ราคาปาล์มน้ำมัน น่าจะปรับตัวลดลง ตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก เนื่องจากความต้องการใช้ของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปริมาณการผลิต ขณะที่ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยก็อยู่ในระดับสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ