ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน ธ.ค.61 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เหตุรายได้เพิ่มจากโบนัส-มาตรการภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 11, 2019 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนธ.ค.61 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 46.0 จากเดิมที่ระดับ 45.7 ในเดือนพ.ย.61 เนื่องจากครัวเรือนไทยบางส่วนมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนธ.ค.61 เป็นผลของหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลของการปรับขึ้นค่าจ้าง/เงินเดือน และจ่ายเงินโบนัสประจำปีของแต่ละหน่วยงาน/องค์กร การได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ผลประกอบการของครัวเรือนในภาคการค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น (เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.) ตามการใช้จ่ายของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปี รวมไปถึงมาตรการของภาครัฐที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปี เป็นเงิน 500 บาท/คน

นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรบางรายการสำคัญที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อาทิ ข้าวและมันสำปะหลัง ก็มีส่วนช่วยให้รายได้ครัวเรือนเกษตรบางพื้นที่ยังประคองตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ รายได้ของครัวเรือนบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในรูปแบบเงินก้อน (เงินโบนัส) ช่วยหนุนให้ครัวเรือนมีเงินเก็บออมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือนข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเชิงฤดูกาล และปัจจัยที่มีผลต่อรายได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งยังต้องติดตามทิศทางรายได้ของครัวเรือนในระยะข้างหน้า หลังผลของปัจจัยเชิงฤดูกาลและปัจจัยที่มีผลเพียงครั้งเดียวสิ้นสุดลง

นอกจากประเด็นในเรื่องรายได้แล้ว ครัวเรือนยังมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบ KR-ECI ด้านราคาสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 40.5 ในเดือนพ.ย. มาอยู่ที่ระดับ 41.0 ในเดือนธ.ค. 2561 สอดคล้องไปกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 2561 ที่ติดลบร้อยละ 0.65 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ราคาปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก และราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกทุกประเภทที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของ KR-ECI ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 เป็นต้นมา โดยแรงสนับสนุนสำคัญมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยที่ทำให้ตลาดแรงงานในประเทศปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยหนุนให้ครัวเรือนไทยมีรายได้และการจ้างงานที่ดีขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ตลาดแรงงานไทย หลังข้อมูลจำนวนผู้ว่างงานที่มาจากภาคเกษตรกรรมในเดือนธ.ค. 2561 ลดลงค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรในปี 2561 จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปี 2560 อีกทั้งไม่มีมาตรการภาครัฐจูงใจให้แรงงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิต รวมถึงภาคการค้าและการบริการกลับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถ้าหากการว่างงานในรูปแบบข้างต้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศในระยะข้างหน้า

สำหรับดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องไปกับมุมมองของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในปัจจุบัน โดยในเดือนธ.ค.61 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.6 จากเดิมที่ระดับ 47.4 ในการสำรวจช่วงเดือนพ.ย.61 เนื่องจากครัวเรือนมีความกังวลที่ลดลงต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผ่านพ้นช่วงเทศกาลปลายปีที่ครัวเรือนจะมีการใช้จ่ายที่สูงกว่าเดือนอื่นๆ ในการซื้อของขวัญ ท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์ รวมไปถึงการทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว

"ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนธ.ค.61 และดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือนม.ค.-มี.ค.62) ปรับตัวดีขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องกันด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน โดย KR-ECI ในปัจจุบันที่ปรับตัวดีขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือน ประกอบกับค่าครองชีพปรับตัวลดลงตามราคาอาหารสดและราคาพลังงาน ขณะที่ KR-ECI ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงของค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามซึ่งจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ และการครองชีพของครัวเรือนไทย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะร้อนและแห้งแล้งกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยลง และอาจจะกระทบต่อรายได้ครัวเรือนเกษตร ในขณะที่ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศช่วงไตรมาสแรก คาดว่าจะมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางและค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นความแน่ชัดในเรื่องการเลือกตั้งที่น่าจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนบรรยากาศการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ