นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าฝ่ายกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวเปิดงานสัมมนาการทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อนำไปประกอบการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการต่อไป จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) โดยคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการได้ในกลางปี 62
ทั้งนี้ รฟม.คาดว่าจะสามารถเชิญชวนร่วมลงทุนได้ในไตรมาส 3 ปี 62 และคาดจะใช้ระยะเวลาพิจารณาข้อเสนอ ซึ่งจะรู้ผลผู้ชนะในกลางปี 63 จึงเริ่มก่อสร้างได้ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 66
สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต มีมูลค่าโครงการประมาณ 3.48 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแบบตามข้อเสนอกรมทางหลวง เพื่อลดผลกระทบการจราจรให้เป็นทางลอด เลี่ยงช่วงยูเทิร์นและทางแยก ซึ่งอาจจะมีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2 จุด ทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มอีกเป็นเงินประมาณ 1,000- 1,600 ล้านบาท ขณะเดียวกันโครงการอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม. (คชก.) พิจารณา
"โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต รฟม.รับมาดำเนินการจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ โดยได้จัดรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต บางส่วนกังวลโครงการตั้งอยู่ระดับเดียวกับพื้นดิน จะทำให้เกิดปัญหาจรจาจร รฟม.จะดูเส้นทางเดินรถให้เหมาะสมที่สุด" รองผู้ว่า รฟม.กล่าว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการ PPP Fast Track และภาครัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 1.78 หมื่นล้านบาท ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.5 พันล้านบาท แต่ให้เอกชนลงทุนไปก่อน รวมทั้งลงทุนระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า การเดินรถและการซ่อมบำรุงรักษา ส่วนงานก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3-3.5 ปี และให้ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ในการให้บริการ โดยในช่วงเวลา 30 ปี (ปี 66-96) ประมาณการรายได้โครงการจากค่าโดยสารรวม 7.45 หมื่นล้านบาท
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต มีระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กม. ซึ่ง รฟม.จะเริ่มดำเนินการระยะที่ 1 ก่อนที่มีจำนวนสถานี 21 สถานี แบ่งเป็นระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบระยะทาง สูงสุดประมาณ 100-137 บาทต่อเที่ยว หรือแรกเข้า 18 บาท เก็บตามระยะทาง กม.ละ 2 บาท โดยจากวิเคราะห์พบว่าโครงการนี้จะให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) ประมาณ 12.5%
นายธีรพันธ์ กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ มีนักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี จีน ญี่ปุ่น ส่วนเอกชนไทย มีผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ราย ได้แก่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง (BTS) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้ความสนใจ และบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ รวมทั้งกลุ่มทุนท้องถิ่น อาทิ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด
รองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคอีก ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก โดยเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาเช่นกัน ในส่วน จ.เชียงใหม่ ขณะนี้ รฟม.กำลังว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบ คาดเริ่มดำเนินการและออกแบบแล้วเสร็จกลางปี 63, จ.นครราชสีมา คาดว่าจะคัดเลือกที่ปรึกษาออกแบบในอีก 3 เดือน และ จ.พิษณุโลก จะขอ ครม.ออก พ.ร.ฎ.มอบอำนาจให้ รฟม.ดำเนินโครงการ ซึ่งจะเสนอบอร์ด รฟม.ในที่ 25 ม.ค.62 ก่อน